วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

อุกกาบาต (Meteor) ผวารอบใหม่รับปีใหม่ ดาวเคราะห์น้อย อะโพฟิส ชนโลก


อุกกาบาต คือ วัตถุขนาดเล็กในอวกาศที่ผ่านบรรยากาศลงมาถึงพื้นโลก ขณะอยู่ในอวกาศเรียกว่า "สะเก็ดดาว" ขณะเข้าสู่บรรยากาศเรียกว่า "ดาวตก". เราสามารถพบอุกกาบาตได้บนดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น ดาวอังคาร อุกกาบาตประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอน ปะปนอยู่ในอุกกาบาตบางชนิดเท่านั้น ซึ่งจะเป็นชนิดเหล็กและนิกเกิล


การศึกษาอุกกาบาตช่วยให้มนุษย์ได้สืบค้นถึงประวัติความเป็นมาของโลกดาวเคราะห์ดวงพิเศษสุดที่เราถือกำเนิดและอาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ได้ดีขึ้นในบางคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส เราอาจเห็นแสงวูบวาบตกลงมาจากฟากฟ้าเรียกกันว่าดาวตกหรือผีพุ่งไต้แต่ความจริงดาวตกเป็นวัตถุแข็งจำพวกหินหรือเหล็กตกเข้าสู่เขตบรรยากาศโลกด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมงแรงเสียดสีกับบรรยากาศทำให้ร้อนจัดหลอมตัวเป็นลูกไฟสว่างมีควันเป็นทางยาว หากวัตถุชิ้นเล็กจะลุกไหม้สว่างกลายเป็นไอสลายไป หมด แต่บางก้อนที่มีขนาดใหญ่จะมีเสียงดังคล้ายเสียงยิงปืนหรือเสียงฟ้าผ่าเมื่อวิ่งผ่านอากาศตกลงมา และหากสลายตัวไม่หมด มักเหลือซากตกลงถึงพื้นโลก เรียกว่า ลูกอุกกาบาต มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน ตั้งแต่น้ำหนักเพียงไม่กี่กรัมจนถึงก้อนหนึ่งหนักหลาย ๆ ตัน อุกกาบาตแบ่งตามลักษณะเนื้อในเป็น 3 แบบ คือ อุกกาบาต ชนิด หิน เหล็ก และ เหล็กปนหิน ส่วนใหญ่ ที่พบเป็นอุกกาบาต ชนิดหิน ก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ จีหลิง (Jiling) ตกที่อำเภอจีหลิง ประเทศจีน เมื่อ 8 มีนาคม 2519 หนักเกือบ 2,000 กิโลกรัม ส่วนอุกกาบาตชนิดเหล็ก ก้อนใหญ่สุดที่ค้นพบคือ โฮบา เวสท์ (Hoba West) ปริมาตรราว 9 ลูกบาศก์เมตร หนักประมาณ 66 ตันตกกลางป่า ในอัฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ อุกกาบาตชนิดหินส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนหินบนโลก และมักสลายตัวเพราะลมฟ้าอากาศ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเป็นลูกอุกกาบาต การวิเคราะห์ทำได้โดยตัดผิวอุกกาบาตให้เรียบ ขัดมันแล้วใช้กรดอย่างอ่อนกัด พบโครงสร้างรูปผลึกปรากฏเห็นชัดบนผิวเรียบนั้น ซึ่งเป็นลักษณะ เฉพาะตัวของอุกกาบาต


อุกกาบาตขนาดใหญ่ที่พุ่งชนโลกอย่างแรง ทำให้เกิดหลุมลึกบนพื้นโลกเรียกว่า เครเตอร์ หลุมอุกกาบาตใหญ่ที่สุดบนโลก คือ หลุมแบริงเยอร์ ในรัฐอะริโซนา สหรัฐอเมริกา คาดว่า เกิดจากอุกกาบาตชนิดเหล็กหนักถึง 1 ล้านตัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ตกกระแทก พื้นโลกเป็นหลุมมหึมา ปากหลุมกว้าง 1,200 เมตร ลึก 170 เมตร ความลึกเท่ากับตึกสูง 40 ชั้นทีเดียว หลุมแบริงเยอร์อายุประมาณ 22,000 ปีอุกกาบาตตกในประเทศไทย- ลูกอุกกาบาตนครปฐม ตกที่ตำบลดอนยายหอม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2466 แตกเป็น 2ก้อนใหญ่ น้ำหนักรวม 32 กิโลกรัม เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหิน ตั้งแสดงอยู่ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - ลูกอุกกาบาตเชียงคาน ตกที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2524 เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัตถุจากกระแสธารอุกกาบาต ที่เป็นซากเหลือจาก ดาวหางเทมเพล (Tempel ) ที่โลกโคจรตัดผ่านธารอุกกาบาตในช่วงนั้น เป็นประจำทุกปี จึงทำให้เกิดเป็น ฝนดาวตก หรือ ฝนอุกกาบาต ให้เห็นในระยะนั้น มีสมมุติฐานอธิบายกำเนิดของอุกกาบาต ว่าน่าจะมาจากแถบของดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่าง วงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี หรืออาจ มาจากดาวหางที่โคจรอยู่ในระบบสุริยะ นอกจากนั้นยังพบอุกกาบาตบางก้อนมีองค์ประกอบ เช่นเดียวกับหินจากดวงจันทร์และหินจาก ดาวอังคารด้วย อุกกาบาตเป็นวัตถุฟากฟ้าที่สำคัญยิ่งในทางดาราศาสตร์ เพราะนอกจากโลกของเราแล้ว อุกกาบาตเป็นสมาชิกในระบบ สุริยะที่ตกผ่านเข้ามาบนโลกให้มนุษย์ได้มีโอกาสจับต้อง และศึกษาค้นคว้าได้โดยตรง การตรวจสอบพบว่าลูกอุกกาบาตส่วนใหญ่ประกอบด้วยเหล็ก นิเกิล และแร่ธาตุที่ตรวจพบได้บนโลก จึงสรุปได้ว่าสมาชิก ของระบบสุริยะทั้งปวงประกอบขึ้นจากวัตถุชนิดเดียวกันและเมื่อสืบค้นถึงอายุของลูกอุกกาบาต โดยการตรวจสารกัมมันตรังสี พบว่าลูกอุกกาบาต มีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับอายุของโลก
การศึกษาลูกอุกกาบาตจึงจะช่วยให้มนุษย์ได้สืบค้นถึงประวัติความเป็นมาของโลก ดาวเคราะห์ ดวงพิเศษสุดที่เราถือกำเนิดและอาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ได้ดีขึ้น
ผวารอบใหม่รับปีใหม่ ดาวเคราะห์น้อย อะโพฟิส ชนโลก?? (เดลินิวส์) เข้าสู่ปีใหม่ 2553 นอกจากคำทำนายทายทักดวงดาวในทางโหราศาสตร์ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะดีแล้ว กับเรื่องดวงดาวในทางดาราศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ก็มีรายงานในทางไม่ดีอีกครั้งเช่นกัน โดยเป็นเรื่องของ "ดาวเคราะห์น้อย" ที่ชื่อว่า "อะโพฟิส (99942 Apophis)" เกี่ยวกับการจะ "เฉี่ยวโลก-ชนโลก ??" เดิมมีรายงานว่าอะโพฟิสจะแค่เฉี่ยวใกล้โลกมาก แต่ล่าสุดมีรายงานชิ้นใหม่ว่ามีโอกาสชนโลก ??? ทั้งนี้เรื่องของดาวเคราะห์น้อยหรือแอสเตอรอยด์ที่ชื่อ "อะโพฟิส" นั้นมิใช่เรื่องใหม่ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่มันอาจคุกคามโลกมานานแล้ว และย้อนไปเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ก็เคยนำเสนอเกี่ยวกับมัน โดยข้อมูลจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย ในบทความของ วรเชษฐ์ บุญปลอด ระบุว่าอะโพฟิสถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งขณะนั้นถูกเรียกว่า 2004 เอ็มเอ็น 4 (2004 MN4) และก็มีการคำนวณเรื่อยมา ประเด็นโดยสรุปที่เคยมีรายงานข่าวจากต่างประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้อง ก็เช่น... มีการคำนวณเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ว่าในวันที่ 13 เม.ย. ปี พ.ศ. 2572 หรือ ค.ศ. 2029 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะโคจรผ่านเฉียดใกล้โลกด้วยระยะห่างประมาณ 64,400 กิโลเมตร แต่ต่อมามีการสรุปใหม่ว่าอะโพฟิสจะเฉียดโลกด้วยระยะห่าง เพียง 36,350 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 5.7 เท่าของรัศมีโลก ใกล้กว่าดวงจันทร์เกือบ 11 เท่า ใกล้กว่าดาวเทียมค้างฟ้า และก็มีการพูดถึงประเด็น "อะโพฟิสอาจชนโลก ??" นอกจากนี้ ยังมีการระบุอีกว่า...แม้อะโพฟิสจะไม่ชนโลกในปี พ.ศ. 2572 แต่เมื่อมันเข้าใกล้โลกมาก ๆ แล้ว แรงโน้มถ่วงของโลกจะเบนวงโคจร ซึ่งจะส่งผลให้การคาดหมายวงโคจรในอนาคตแม่นยำน้อยลง จากนั้นก็มีผลการคำนวณออกมาอีกว่า... วันที่ 13 เม.ย. ปี พ.ศ. 2579 ซึ่งก็ตรงกับวันสงกรานต์ของไทยเช่นเดียวกับครั้งแรก อะโพฟิสที่หากไม่ชนโลกในปี พ.ศ. 2572 จะโคจรย้อนมาทางโลกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2579 นี้ และ "อะโพฟิสมีโอกาสชนโลก ??" ในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดต้นปีนี้มีรายงานที่ไม่มีการยืนยัน ว่าถ้าไม่ชนโลกในปี พ.ศ. 2572 ก็อาจชนในปี พ.ศ. 2575 ไม่ถึงปี พ.ศ. 2579 แม้เรื่องการชนโลกของดาวเคราะห์น้อย "อะโพฟิส" จะยังไม่เคยมีการยืนยันชัดเจน 100% จากนักดาราศาสตร์-นักวิทยาศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้องมาก่อน เช่นเดียวกับกรณีจะโคจรวนกลับมาชนในปี พ.ศ. 2575 อย่างไรก็ตามพลันที่ทางรัสเซียมีการเคลื่อนไหวดำเนินการเกี่ยวกับอะโพฟิส ก็ทำให้อะโพฟิสเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้ง "อะโพฟิสอาจชนโลก ??" เขย่าขวัญชาวโลกอีกครั้ง ช่วงส่งท้ายสิ้นปี พ.ศ. 2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี พ.ศ. 2553 มีรายงานข่าวว่า ในขณะที่ทาง องค์กรการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ยังแค่เฝ้าติดตามจับตาอะโพฟิส ทาง สำนักงานอวกาศรัสเซีย ได้ตัดสินใจจะพิจารณา "ส่งยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส" ซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 350 เมตร (ข้อมูลบางแหล่งก็ว่า 250-270 เมตร บางแหล่งก็ว่า 300 เมตร) ซึ่งคาดว่าจะโคจรผ่านใกล้โลก หรืออาจชนปะทะทำความเสียหายร้ายแรงให้โลก โดยการจะส่งยานอวกาศของรัสเซียครั้งนี้ภารกิจคือ "ชนปะทะให้อะโพฟิสหลุดจากเส้นทางโคจร ป้องกันความเป็นไปได้ที่อาจพุ่งชนโลก !!" ฟังดูเหมือนหนังอวกาศ...แต่อะโพฟิสมันมีอยู่จริง !!! ทั้งนี้แม้จะมีรายงานข่าวว่าทางองค์การนาซาระบุว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่อะโพฟิสจะชนโลกในปี พ.ศ. 2572 และการโคจรกลับมาในรอบต่อ ๆ ไป ทั้งในปี พ.ศ. 2579 และรวมถึงปี พ.ศ. 2611 ทางนาซาก็แสดงท่าทีปฏิเสธที่จะระบุเรื่องโอกาสชนโลกอีก แต่กระนั้นเรื่องการชนโลกของอะโพฟิสก็ยังอยู่ในความสนใจอย่างหวาด ๆ ในทุกมุมโลก เพราะขนาดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ไม่ว่าจะเส้นผ่าศูนย์กลาง 270 จะ 300 หรือ 350 เมตร ยังไงก็ถือว่าไม่ใช่เล็ก ๆ "ไม่ใช่อุกกาบาตจิ๊บจ๊อย" ซึ่งหากจะว่ากันที่ตัวเลขกลาง ๆ คือเส้นผ่าศูนย์กลางราว 300 เมตร ถ้าเป็นตัวเลขนี้ทาง สมาคมดาราศาสตร์อังกฤษ เคยคำนวณน้ำหนักของอะโพฟิสไว้ว่า...อยู่ที่ประมาณ 45 ล้านตัน !! "จะสร้างหายนะกับโลกขนาดไหนขึ้นอยู่กับบริเวณที่พุ่งชน ถ้าชนพื้นโลกจะเกิดแอ่งกว้างราว 6 กิโลเมตร ถ้าชนในทะเลก็อาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 3-22 เมตร และจะทำลายชายฝั่งที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหมด" ...เป็นการระบุของนักวิทยาศาสตร์ในการประชุมขององค์การนาซาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนหน้านี้ เป็นการระบุถึง "อะโพฟิส" ที่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็บอกว่า...ถ้าคิดจะใช้ "ระเบิดนิวเคลียร์" ผลักให้มันหลุดออกจากวงโคจรเหมือนในหนังเรื่อง "อาร์มาเก็ดดอน" ถึงเอานิวเคลียร์ไประเบิดได้ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยต่อโลก เพราะจะทำให้อะโพฟิสแตกเป็นเสี่ยง ๆ กลายเป็นสะเก็ดดาวใหญ่ที่อาจมีถึง 5 สะเก็ด และมีโอกาสพุ่งสู่โลก และถ้าใครไม่อยากเชื่อฝรั่ง อยากฟังนักวิทยาศาสตร์ไทย อยากถามว่า "ทำไมต้องกลัวดาวเคราะห์น้อยชนโลก ??" ทาง รศ.ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล ก็เคยบอกผ่าน "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" เอา ไว้ว่า... "ถ้าพุ่งชนโลก ความรุนแรงก็จะไม่ต่างกับระเบิดนิวเคลียร์ที่มีแรงทำลายล้างมหาศาล ยิ่งถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 กิโล เมตรขึ้นไป จะถึงกับล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติได้ !!!"

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)


ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)


ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้น โลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัด (และ ตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศ กรองพลังงาน จาก ดวงอาทิตย์) ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้ คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)

แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆที่เผา เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ใน ล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปี

ซึ่ง คาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ภาวะโลกร้อน ดังเช่นปัจจุบัน

ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น และบุคคลที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของพวกเราเอง


สาเหตุ

ภาวะโลกร้อนเป็นภัยพิบัติที่มาถึง โดยที่เราทุกคนต่างทราบถึงสาเหตุของการเกิดเป็นอย่างดี นั่นคือ การที่มนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอซซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตพลังงาน เราต่างทราบดีถึงผลกระทบบางอย่างของภาวะโลกร้อน เช่น การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง การแพร่ระบาดของโรคร้ายต่างๆ อุทกภัย ปะการังเปลี่ยนสีและการเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ประเทศตามแนวชายฝั่ง ประเทศที่เป็นเกาะ และภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอย่างเอเชียอาคเนย์

จากการทำงานของคณะกรรมการของรัฐบาลนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีองค์การวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เฝ้าสังเกตผลกระทบต่างๆ และได้พบหลักฐานใหม่ที่แน่ชัดว่า จากการที่ภาวะโลกร้อนขึ้นในช่วง 50 กว่าปีมานี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ประมาณ 1.4-5.8 องศาเซลเซียส

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง วาตภัย อุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด แผ่นดินถล่ม และการเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน จากภาวะอันตรายเหล่านี้พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เสี่ยงกับการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่และช่วยเหลือเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เป็นเหตุให้ปริมาณผลผลิตเพื่อการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งทำให้จำนวนผู้อดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นอีก 60-350 ล้านคน

ในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ มีโครงการพลังงานต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น และการดำเนินงานของโครงการเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละช่วงได้เปลี่ยนแปลงไป การบุกรุกและทำลายป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศน์วิทยาตามแนวชายฝั่ง และจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนสีของน้ำทะเล ดังนั้น แนวปะการังต่างๆ จึงได้รับผลกระทบและถูกทำลายเช่นกัน

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีชายฝั่งทะเล ที่มีความยาวประมาณ 2,490 กิโลเมตร และเป็นแหล่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และความไม่แน่นอนของฤดูการที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม มีการคาดการณ์ว่า หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เมตรภายในทศวรรษหน้า หาดทรายและพื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทยจะลดน้อยลง สถานที่ตากอากาศชายทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พัทยา และ ระยองจะได้รับผลกระทบโดยตรง แม้แต่กรุงเทพมหานคร ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนี้เช่นกัน

ปัญหาด้านสุขภาพ ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของยุ่งมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การแพร่ระบาดของไข้มาเลเรียและไข้ส่า นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น อหิวาห์ตกโรค ซึ่งจัดว่าเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโรคหนึ่งในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น คนยากจนเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ประกอบกับการให้ความรู้ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ดี ยังมีไม่เพียงพอ

ปัจจุบันนี้สัญญาณเบื้องต้นของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ปรากฏขึ้นอย่างแจ้งชัด ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่จะรอจนกว่าจะค้นพบข้อมูลมากขึ้น หรือ มีความรู้ในการแก้ไขมากขึ้น ซึ่ง ณ เวลานั้นก็อาจสายเกินไปแล้วที่จะแก้ไขได้


กลไกของสภาวะโลกร้อน

ในสภาวะปกติ โลกเราจะได้รับพลังงานประมาณ 99.95 % จากดวงอาทิตย์ ในรูปแบบของการแผ่รังสี พลังงานที่เหลือมาจากความร้อนใต้ภิพซึ่งหลงเหลือจากการก่อตัวของโลกจากฝุ่นธุลีในอวกาศ และการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีที่มีอยู่ในโลก

ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาโลกเราสามารถรักษาสมดุลย์ของพลังงานที่ได้รับอย่างดีเยี่ยม โดยมีการสะท้อนความร้อนและการแผ่รังสีจากโลกจนพลังงานสุทธิที่ได้รับในแต่ละวันเท่ากับศูนย์ ทำให้โลกมีสภาพอากาศเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตหลากหลาย

กลไกหนึ่งที่ทำให้โลกเรารักษาพลังงานความร้อนไว้ได้ คือ "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" (greenhouse effect) โดยโลกจะมีชั้นบาง ๆ ของแก๊สกลุ่มหนึ่งเรียกว่า "แก๊สเรือนกระจก" (greenhouse gas) ที่ทำหน้าที่ดักและสะท้อนความร้อนที่โลกแผ่กลับออกไปในอวกาศให้กลับเข้าไปในโลกอีก หากไม่มีแก๊สกลุ่มนี้ โลกจะไม่สามารถเก็บพลังงานไว้ได้ และจะมีอุณหภูมิแปรปรวนในแต่ละวัน แก๊สกลุ่มนี้จึงทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มบาง ๆ ที่คลุมโลกที่หนาวเย็น

การณ์กลับกลายเป็นว่าในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกเราได้มีการสะสมแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากขึ้น เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจกรรมประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดิน การเพิ่มขึ้นของแก๊สเรือนกระจกทำให้โลกไม่สามารถแผ่ความร้อนออกไปได้อย่างที่เคย ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสมือนกับโลกเรามีผ้าห่มที่หนาขึ้นนั่นเอง


ปรากฏการณ์เรือนกระจกคืออะไร?

"ปรากฏการณ์เรือนกระจก" (greenhouse effect) คือ ปรากฏการณ์ที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจาก พลังงานแสงอาทิตย์ ์ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรทที่สะท้อนกลับถูกดูดกลืนโดยโมเลกุลของ ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และ CFCsไนตรัสออกไซด์ (N2O)ในบรรยากาศทำให้โมเลกุลเหล่านี้มีพลังงานสูงขึ้นมีการถ่ายเทพลังงานซึ่งกันและกันทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นการถ่ายเทพลังงานและความยาวคลื่นของโมเลกุลเหล่านี้ต่อๆกันไป ในบรรยากาศทำให้โมเลกุลเกิดการสั่นการเคลื่อนไหว ตลอดเวลาและมาชนถูกผิวหนังของเรา ทำให้เรารู้สึกร้อน

เรือนกระจก

ในประเทศในเขตหนาวมีการเพาะปลูกพืชโดยอาศัยการควบคุมอุณหภูมิความร้อนโดยใช้หลักการที่พลังงาน ความร้อนจากแสงอาทิตย์ส่องผ่านกระจก แต่ความร้อนที่อยู่ภายในเรือนกระจกไม่สามารถสะท้อนกลับออกมาทำให้อุณหภุมิภายในสูงขึ้นเหมาะแก่การเพาะปลูกของพืช จึงมีการเปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นนี้ว่าภาวะ เรือนกระจก(greenhouse effect)

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซที่สะสมพลังงานความร้อนในบรรยากาศโลกไว้มากที่สุดและมีผลทำให้ อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ CO2ส่วนมากเกิดจากการกระทำของมนุษย์เช่น

- การเผาไหม้เชื้อเพลิง

- การผลิตซีเมนต์

- การเผาไม้ทำลายป่า

ก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก

• คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกิดจากการเผาไหม้ต่าง ๆ

• มีเทน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุ เช่น ขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายได้ ของเสีย อุจจาระ

• CFC เป็นสารประกอบสำหรับทำความเย็น พบในเครื่องทำความเย็นต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกับฟรีออน และยังพบได้ในสเปรย์ต่าง ๆ อีกด้วย

• Nitrous Oxide (N2O) เป็นก๊าซมีพิษที่เกิดจากเครื่องยนต์ การเผาถ่านหิน และใช้ประกอบในรถยนต์เพื่อเพิ่มกำลังเครื่อง

ก๊าซเหล่านี้เช่น CFC จะทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตและแตกตัวออกเป็นโมเลกุลคลอลีนและโมเลกุลต่างๆอีกหลายชนิด ซึ่งโมเลกุลเหล่านี้จะเป็นตัวทำลายโมเลกุลของออกซิเจนชนิดพิเศษหรือ O3 บนชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลต และอินฟาเรดส่องผ่านลงมายังพื้นโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก๊าซเหล่านี้ก็กันรังสีไม่ให้ออกไปจากบรรยากาศโลก ด้วยว่าที่รังสีเหล่านี้เป็นพลังงาน พวกมันจึงทำให้โลกร้อนขึ้น

• ก๊าซไฮโดรฟลูโรคาร์บอน ( HFCS)

• ก๊าซเปอร์ฟลูโรคาร์บอน ( CFCS)

• ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูโอโรด์ ( SF6 )

ก๊าซเหล่านี้สมควรที่จะต้องลดการปล่อยออกมา ซึ่งผู้ที่จะลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ได้ก็คือ มนุษย์ทุกคน

โพสดัชนีความสุขของคนไทย เพิ่มขึ้นในปี 53



ดัชนีความสุขอยู่ที่ระดับ 8.96 ปัจจัยหลักที่ทำมีความสุข คือ การรวมใจแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เชื่อสังคมจะเดินได้หาก การเมือง และ เศรษฐกิจดี...

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2553 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัย "เอแบคเรียลไทม์โพลล์" เรื่อง ประมวลผลวิจัยแนวโน้มความสุขของประชาชน และการพยากรณ์ทางสถิติความสุขมวลรวมของประชาชนในปีใหม่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนระดับครัวเรือนใน 17 จังหวัดของประเทศ พบว่า ในช่วงปลายปี 2552 คนไทยมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากที่สุดคือ มีค่าความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 8.96 เมื่อค่าความสุขเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ สุขภาพใจอยู่ที่ 7.96 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.72

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองสูงถึง 5.58 หลังจากที่เคยค้นพบความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองเคยตกต่ำเลวร้าย เหลือประมาณ 2.00 ในการวิจัยช่วงวิกฤติความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาค่าความสุขมวลรวมของประชาชน ช่วงปลายปี 2552 พบว่า อยู่ที่ 7.26 ในทางสถิติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปี ใหม่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงความสุขต้นเดือน ธ.ค.พบว่า ค่าความสุขของประชาชนลดลงจาก 9.86 มาอยู่ที่ 7.26 ดังกล่าว

นายนพดล กล่าวต่อถึงผลการสำรววจที่น่าสนใจว่า ผลการพยากรณ์ทางสถิติค่าดัชนีความสุขมวลรวม (GDH) ตลอดช่วงไตรมาสต่างๆ ในปีใหม่ 2553 พบว่า ถ้าไม่มีปัจจัยลบร้ายแรง หรือ ไม่มีปัจจัยบวกเป็นพิเศษแทรกซ้อนใดๆ คือ หากสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ ค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 6.87 ในไตรมาสแรก ส่วนในไตรมาสที่สอง ค่าความสุขของคนไทยจะอยู่ที่ 6.97 และอยู่ที่ 6.62 ในไตรมาสที่สาม ส่วนช่วงปลายปีหน้าค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 7.86 จากค่าความสุขเต็มที่ 10 คะแนน

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลวิจัยที่ค้นพบบอกถึงความชัดเจนว่า สังคมไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างปกติสุข หากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดำเนินต่อไป ไม่แตกต่างไปจากช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ มุ่งทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ห้ำหั่นรุนแรงเข้าหากัน แต่ช่วยกันตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนสามารถทำให้สาธารณชนตื่นตัวเข้มแข็งตัดสินใจในวันเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใคร ผลที่คาดว่าจะตามมา คือ ทุกฝ่ายสามารถช่วยกันหล่อเลี้ยงความสุขของตนเอง และผู้อื่นในสังคมไทยโดยส่วนรวมให้อยู่ในสภาวะที่ดีเพียงพอได้

นายนพดล กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ด้วยสถิติวิจัยก่อนหน้านี้และครั้งล่าสุด พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนคือ การที่คนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การนำหลักชีวิตแห่งความพอเพียงมาประยุกต์ใช้ การมีสุขภาพใจ นอนหลับพักผ่อนได้สนิท พักผ่อนได้เต็มที่ ได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ความเป็นธรรมในสังคม ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว บรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชุมชน ความพอใจในหน้าที่การงาน สภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน และความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น

ที่มา นสพ.ไทยรัฐ ระบบออนไลน์ 5 มกราคม 2553


ดัชนีความสุขโลก (HPI: Happy Planet Index) ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า ประชากรสองแสนกว่าคนของวานูอาตู มีความสุขที่สุดในโลก ประเทศนี้น่าอยู่ที่สุดในโลก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลก และสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่อันดับที่ 150 จาก 178 ประเทศ เป็นประเทศที่คนมีความสุขน้อยที่สุด ไม่น่าอยู่ที่สุด และสิ่งแวดล้อมแย่ที่สุด

หรือว่าเวียดนาม (อันดับ 12 ของโลก อันดับ 1 ในเอเชีย) จะน่าอยู่กว่าไทย คนมีความสุขกว่าไทย (อันดับ 32 ของโลก อันดับ 7 ของเอเชีย) สิงคโปร์ (131 ของโลก อันดับสุดท้ายของอาเซียน อันดับท้ายๆ ของเอเชีย)

HPI ต้องการจะบอกว่า วันนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกไปถึงจุดหมายของ "สุขภาวะ" "ความสมดุลย์" และ "ความยั่งยืน" ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ตั้งคะแนนไว้ที่ 83.5 อันดับหนึ่งวานูอาตูได้เพียง 68.2 เท่านั้น

HPI เป็นแผนที่ความสุข ถ้าหากประเทศต่างๆ เดินตามแผนที่นี้ ก็จะพบความสุข ซึ่งก็เป็นเป้าหมายชีวิตของผู้คนทุกประเทศในโลก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้กำหนดตัวชี้วัด "ผิดๆ " มานาน คิดว่าการมีรายได้มาก การบริโภคมาก ทำให้คนมีความสุข ซึ่งไม่จริง

ประเทศที่ GDP โตๆ ทั้งหลายไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นตามรายได้เลย อย่าไปมองไกลที่ไหนระหว่างปี 2530-2540 GDP ของไทยเติบโตทุกปีรวมแล้วเกินร้อยเปอร์เซนต์ แต่คนไทยก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้น ซ้ำยังทุกข์หนักอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อฝันสลายฟองสบู่แตกในปี 2540

คนจะมีความสุขควรจะมี 3 อย่างที่ประสานกันไป คือ

1) ความพอใจในชีวิต ซึ่งวิชาการยืนยันว่าวัดได้ 2) อายุยืน การมีอายุยืนก็บ่งบอกถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย 3) การใช้ทรัพยากร หรือผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้สูตรการคำนวณคือ HPI เท่ากับ 1X2 หาญด้วย 3

ความจริง ทั้งสามเรื่องก็ไม่ใช่อะไรใหม่เสียทีเดียว ใช้กันมาหลายปีแล้วโดยสหประชาชาติและหลายประเทศ ซึ่งปรับตัวชี้วัดการพัฒนา (ยั่งยืน) จากการเน้นเศรษฐกิจไปสู่การวัดสุขภาวะ (well-being) ของประชากร (HDI: Human Development Index)

แต่ที่เป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ คือ กระบวนทัศน์หรือทัศนะแม่บท (paradigm) อันเป็นฐานและวิธีในการวัด "ความสุขของโลก" (HPI) ซึ่งแตกต่างไปจากของยูเอ็นและอีกหลายประเทศ ไม่เช่นนั้น สหรัฐอเมริกาไม่น่าจะหล่นไปอยู่อันดับที่ 150 อังกฤษ 108 สวิเดน 119 ฟินแลนด์ 123 ฝรั่งเศส 129 รัสเซีย 172 ยูเครน 174 ทั้งๆ ที่รัสเซียมีรายได้ต่อหัวประชากรถึง 9,230 เหรียญสหรัฐ

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ เรื่องทั้งหมดนี้มาจาก คนเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ เอ็นจีโอเล็กๆ สององค์กร คือมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation) และ เพื่อนโลก (Friends of the Earth) ซึ่งเป็นสหพันธ์องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน 70 ประเทศ

ในองค์กรเหล่านี้มีคนที่เป็นมืออาชีพต่างๆ มาร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน และไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ งบประมาณทำงานก็มาจากการบริจาค เป็นอาสาสมัครนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ซึ่งรวมตัวกันตั้งแต่ปี 1986 เพื่อล้อยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม G8

วันนี้พวกเขามีตัวเลขมาบอกชาวโลกว่า ทำไมเขาถึงได้จัดสหรัฐอเมริกาไว้ที่อันดับ 150 ทั้งๆ ที่รายได้ต่อหัวประชากรถึงปีละ 37,562 เหรียญหรือ 1.420,000 บาท มีความพอใจในชีวิตอยู่ระดับสูงมาก คือ 7.4 เท่ากับวานูอาตู มากกว่าไทย (6.5) และอายุเฉลี่ยของคนอเมริกันก็ 77.4 สูงกว่าวานูอาตู (68.6)

ความแตกต่างอยู่ที่การใช้ทรัพยากรของคนอเมริกันซึ่งอยู่ที่ 9.5 เกือบสูงสุดในโลก หมายความว่า คนอเมริกันใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด หรือมากกว่าที่ควรจะใช้ถึง 9.5 เท่า ไทยใช้ 1.6 สิงคโปร์ใช้ 6.2

ประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว แต่ผลาญทรัพยากรทั้งหลายจึงหล่นไปอยู่ท้ายๆ พอๆ กับประเทศยากจนในแอฟริกา ซึ่งอายุเฉลี่ยก็สั้น รายได้ประชาชาติก็น้อย (ต่ำว่าพันเหรียญต่อคนต่อปี) อย่างสวาซีแลนด์ (177) ซิมบับเว (178) สองประเทศที่กำลังล่มสลายด้วยโรคเอดส์ อายุเฉลี่ยประชากรเพียง 32.5, 36.9 ความพึงพอใจในชีวิตอยู่ที่ 4.2, 3.3 เท่านั้น

จึงไม่แปลกที่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับกลางๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะทั้งหลายจะรั้งอันดับดีๆ จนคนทั่วไปที่คุ้นกับกระบวนทัศน์กระแสหลักจะประหลาดใจและทำใจได้ยากที่เห็นประเทศอย่างโคลัมเบียติดอันดับสองของ HPI เพราะภาพที่สหรัฐอเมริกาป้ายสีให้ตลอดมาคือประเทศที่เต็มไปด้วยยาเสพติด และไม่เป็นประชาธิปไตย

คนไทยเองก็ทำใจไม่ได้ที่เห็นเวียดนามอยู่อันดับดีกว่าไทย กลายเป็นที่หนึ่งของเอเชีย และไม่ค่อยเห็นด้วยที่ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียได้อันดับดีกว่า (15,17,23 ตามลำดับ) เพราะคิดว่าตนเองเศรษฐกิจดีกว่า "พัฒนา" มากกว่า

HPI อยากบอกว่า 1) คนจะมีความสุข สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรโลกมากมายอย่างที่ใช้กันเลย 2) การพัฒนาที่สมดุลย์จะสร้างความสุขวันนี้ และมีเหลือให้ลูกหลานในวันหน้า นี่คือการพัฒนายั่งยืน

HPI ได้เสนอแนวทางไปสู่ "ความอยู่เย็นเป็นสุข" โดยมีชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดคือ

1) กำจัดความยากจนและความหิวโหยให้หมดไป เพราะวันนี้ประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้แบ่งปันทรัพยากรให้ประเทศยากจนอย่างเป็นธรรม คนจนที่ไม่มีปัจจัยสี่เพียงพอย่อมไม่สามารถมีชีวิตที่ดีมีความสุขได้ ทำอย่างไรให้มีรายได้ มีที่ดิน มีอาหาร และปัจจัยจำเป็นอื่นๆ

2) สนับสนุนชีวิตที่มีความหมาย ซึ่งอยู่นอกจากงาน ซึ่งอาจไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำด้วยใจรัก ทำด้วยความพึ่งพอใจ เช่น การร่วมทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม กิจกรรมเพื่อชุมชน กิจกรรมที่ทำให้ชีวิตรื่นรมย์ มีความหมาย มีความสุข ไม่ใช่มุ่งหาแต่เงินอย่างเดียว

3) พัฒนานโยบายเศรษฐกิจในขอบเขตของทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช้เกินขีดจำกัด ใช้ของตัวเองไม่พอไปใช้ของคนอื่นอีก การใช้อย่างพอเพียง แปลว่าใช้แล้วให้เหลือให้ลูกให้หลานได้ใช้ด้วย ความพอเหมาะพอควรวันนี้ไม่มีในโลก ทุกประเทศใช้เกินขีดทั้งนั้น เช่น สิงคโปร์ใช้ทรัพยากร 6.2 แปลว่า ถ้าทุกประเทศใช้อย่างนั้นเราจะต้องการโลกถึง 6 ใบกว่าๆ จึงจะตอบสนองความต้องการได้

ดัชนีความสุขโลกกลายเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็จะมีผลกระทบต่อสังคมโลกตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพราะได้กระตุกความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก ไปโดนใจใครๆ ที่ตั้งคำถามเรื่องการพัฒนามานานแล้ว แต่ไม่มีใครหาคำตอบดีๆ ที่มีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ให้

ทำให้คนไทยจำนวนมากมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ใช่ปรัชญาลอยๆ แต่เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่ HPI พูดถึงเลย

เศรษฐกิจพอเพียงบอกไว้ 3 อย่างที่สำคัญ คือ

1) ความพอเหมาะพอควร ซึ่งก็เป็นหัวใจของ HPI ที่เสนอให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ ไม่ใช้เกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะรับได้ เป็นเรื่องของ "ขนาด" (scale) ซึ่งรวมไปถึงขนาดของกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงระดับชาติ ว่า "พอดี" อยู่ตรงไหน

สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงมือศึกษา HPI อย่างจริงจัง เพราะนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มีหลักคิดหลักการที่ไม่ได้ต่างไปจากอี.เอฟ. ชูมาเคอร์ เลย จะว่ายึดเอานักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เป็นปรมาจารย์ก็ไม่ผิด เพราะเขาคือคนที่พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เอารายได้หรือตัวเลขเป็นหลัก แต่เอา "คน" เป็นศูนย์กลาง เอา "ทรัพยากร" มาใช้อย่างสร้างสรรค์

2) ความมีเหตุมีผล เป็นแนวทางการจัดการชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจสังคมอย่างมีหลักวิชา ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใช้ความรู้ ใช้ปัญญา เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้คน การมีเหตุมีผลมาจากการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้คนพัฒนาศักยภาพของตนเอง ของท้องถิ่น และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราได้ใช้ด้วย "ภูมิปัญญา" จึงมีเหลือให้เรา ลูกหลานท่านวันนี้

3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึงการมีหลักประกันว่า สิ่งที่ทำจะมั่นคงยั่งยืน ไม่ใช่ทำแล้วล้มลุกคลุกคลาน หมายถึงต้องสร้างระบบ ไม่ใช่ทำโครงการ ใช้เงินกับอำนาจจะได้โครงการ ใช้ความรู้ใช้ปัญญาจะได้ระบบ โครงการมักไม่ยั่งยืน เพราะเงินหมดก็เลิก ของบประมาณใหม่ คนย้ายก็เลิก เพราะขึ้นกับคน แต่ระบบเป็นพลังที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ถ้าเป็นระบบที่ดี

ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองเป็นระบบที่มี "ขนาด" ที่พอเหมาะพอดีสำหรับศักยภาพของท้องถิ่นที่จะบริหารจัดการ อยู่ที่ "ธรรมาภิบาล" ว่ามีพอหรือไม่ อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่

ประเทศไทยได้รับพระราชทาน "เศรษฐกิจพอเพียง" มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน เรามีของดีที่ไม่ได้ด้อยกว่า หรือแตกต่างไปจาก HPI เพียงแต่เราใช้ไม่เป็น เราไม่ได้ผนึกพลังคนมีความรู้ความสามารถมาช่วยกันคิดว่า ระบบที่จะเกิดด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรจเป็นเช่นไร "หนี่งในสี่" แปลว่าอะไร "พึ่งตนเอง" แปลว่าอะไร

เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานคืออะไร ขั้นก้าวหน้าคืออะไร เศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมต่อกันได้อย่างไร พอเพียงในธุรกิจ ในภาคอุตสาหกรรมและบริการคืออะไร โครงสร้างพื้นฐานขนาดไหนจึงจะ "พอเพียง"

ซึ่งที่สุดก็แปลว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นเพียง "วาทกรรม" ที่พูดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองหรือหน่วยงาน

HPI ทำให้เราเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำให้คนไทยมีความสุขได้ มีความพอใจในชีวิต มีอายุยืนยาว รวมทั้งมีรายได้เพียงพอ และมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคง

ถ้าเราไม่รีบดำเนินการ ไม่นานเมืองไทยอาจจะไหลลงไปเลยอันดับที่ 100 ของ HPI เพราะขณะนี้คนไทยก็เครียด บ้า และฆ่าตัวตายมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรก็ลดน้อยลงไป หนี้สินชาวบ้านนับวันนับจะเพิ่มมากขึ้นแบบไม่มีทางออก

ถึงเวลาตั้งสติกันได้แล้ว ของดีมีอยู่ ความคิดดีมีอยู่อย่างพอเพียงในบ้านเรานี่เอง

(ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.neweconomics.org และ http://www.happyplanetindex.org)

ปรับตัวราคาน้ำมันรับปีเสือดุ 2553


ราคาน้ำมัน อังคาร 5 มกราคม 2553 >ปรับตัวขึ้นอีก 80 สตางค์ต่อลิตรมีผลในวันนี้ นักศึกษาคงอยากรู้ว่าทำไมน้ำมันขึ้นราคา มีสาเหตุใดนั้น ... วันนี้อาจารย์มีคำตอบให้ ว่าน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วสูญสิ้นไป ....

ผู้ค้าน้ำมันทุกรายปรับขึ้นราคาขายปลีกทุกชนิด 80 สตางค์ (สต.) ต่อลิตร เชลล์ นำร่องขึ้นราคาก่อนเป็นรายแรก มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ขณะที่ ปตท. และ บางจาก ปรับตาม มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. ...

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า ผู้ค้าน้ำมันทุกรายปรับขึ้นราคาขายปลีกทุกชนิด 80 สตางค์ (สต.) ต่อลิตร โดยบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัดนำร่องขึ้นราคาก่อนเป็นรายแรก มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ปรับตาม มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.

นายวิทยา หวังจิตรารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตลาดขายปลีกหน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. กล่าวว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านดัชนีชี้วัดต่างๆ เริ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับปริมาณสำรองทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทั้งดีเซลและเบนซินที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงกลางเดือน ธ.ค.กว่า 7-8 เหรียญฯ โดยวันที่ 4 ม.ค. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินปรับขึ้นมาอยู่ที่ 86.55 เหรียญฯ น้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 84.73 เหรียญฯ และน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นมาอยู่ที่ 77.95 เหรียญฯ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนขายปลีกในประเทศมาตลอด แต่ ปตท.ตรึงการปรับราคาขายปลีกไว้ในช่วงวันหยุดปีใหม่ ทำให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 20 สต.ต่อลิตร

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน กล่าวถึงธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในปีนี้อาจไม่ดีเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ผู้ค้าน้ำมันมีกำไรจากค่าการตลาดในรอบ 10 ปี โดยเฉลี่ยตลอดปีที่ผ่านมา ค่าการตลาดอยู่ที่ 1.50 บาทต่อลิตร แต่ในปีนี้ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันมีแรงกดดันจากสังคมในการปรับราคาขายปลีกแต่ละครั้งต่างจากปีก่อน "ยอมรับว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมตามที่ สนพ.กำหนดไว้ 1.50 บาทต่อลิตร เป็นเพียงตัวอ้างอิงเท่านั้น แต่ในทางธุรกิจ ผู้ค้าน้ำมันควรจะได้รับค่าการตลาดมากกว่านี้ ทำให้มีความพยายามจะยกระดับค่าการตลาดเหมาะสมให้ได้ในระดับ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร".

ที่มา นสพ.ไทยรัฐ 5 มกราคม 2553

เงินเฟ้อ (Inflation)


เงินเฟ้อ หมายถึง การที่ระดับราคาราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน่วยวัดในรูปแบบของอัตราร้อยละจากดรรชนีราคา

สาเหตุใหญ่ๆ คือ ....

1) ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น (Cost-push inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้น สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะ ตลาดโลก หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน

2) ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้นๆ จึงดึงให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น (Demand-pull inflation) หรือ มีแรงดึงทางด้านอุปสงค์ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน