วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

พรบ. ความมั่นคงสะท้อนประเทศ (ไม่มั่นคง)


กสม.ติง รบ.ชิงประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่เหมาะ ขัด ม.15 ชี้ สะท้อน รบ.ปกครองล้มเหลว-กระทบภาคเศรษฐกิจ ขณะที่เอกชนประสานเสียงเชียร์รัฐบาล..การประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ที่เรียกง่ายๆ ด้วยภาษาชาวบ้านว่า พ.ร.บ.มั่นคง มา รับมือการชุมนุมทางการเมือง ท่ามกลางเสียงคัดค้านเกรงจะกระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเสียงสนับสนุน เพราะเกรงสถานการณ์ชุมนุมจะยืดเยื้อยาวนาน หากเกิดความรุนแรงขึ้นมาปัญหาจะลุกลามบานปลาย สร้างความเสียหายให้กับประเทศมากมายมหาศาล จนกู่ไม่กลับ ทว่าครั้งนี้ดูเหมือนมีเงื่อนไขที่เด่นชัดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้าน การประกาศนำคนเสื้อแดงมาชุมนุมไม่ตำ่กว่า 1 ล้านคน ของแกนนำ โดยจะดาวกระจายไปตามจุดต่างๆ พร้อมประกาศล้มรัฐบาล ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย ฯลฯ ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ระหว่างวันที่ 11-23 มี.ค. สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี ปริมณฑลอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา แม้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 14 มี.ค. 
ก็ตามนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า โดยหลักการของกฎหมายความมั่นคงแล้ว รัฐบาลจะประกาศได้ต้องระบุว่าชัดเจนว่ามีปรากฏการณ์ และมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ การที่ ครม.ประกาศก่อนนั้นไม่เหมาะสม อาจจะไม่ชอบธรรม ไม่สง่างาม เป็นการขัดต่อมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เปิดช่องให้อีกกลุ่มหนึ่งโจมตีได้ว่าเป็นการจ้องที่จะใช้อำนาจกวาดล้างคน เสื้อแดงเพียงอย่างเดียว"ความจริงการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นั้น ประกาศเมื่อไหร่ก็ได้ หากสถานการณ์ประจักษ์ชัดว่าขัดต่อความมั่นคง กฎหมายเปิดช่องว่าให้นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรี 1 คนเห็นชอบ ก็สามารถประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงได้แล้ว" ดังนั้น นพ.นิรันดร์ จึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะต้องรีบร้อนถึงขนาดนี้ น่าจะ 1. ต้องให้สถานการณ์ประจักษ์ชัดก่อน 2. มีการพูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุม ตกลงกัน หากมีการชุมนุมเกินขอบเขตก็จะมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก พร้อมประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ถึงขั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังได้ จริงอยู่การประกาศกฎหมายมั่นคงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ในการควบคุมการเดินทาง การชุมนุม ใช้ทหารในการควบคุม ตามหลักของสหประชาชาติแล้วทำไม่ได้ แต่เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศก็สามารถดำเนินการในระดับที่ทุกฝ่าย ยอมรับได้ รัฐบาลเองต้องโปร่งใสทุกอย่าง ทั้งกองกำลัง อาวุธ ทางฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ต้องโปร่งใส ไม่หลบในที่มืด"การรีบร้อนประกาศ เท่ากับว่าเป็นการทำลายเสถียรภาพของตัวเอง ที่บอกว่าการปกครองในระบอบของตัวเองจัดการไม่ได้ ล้มเหลวในการปกครองในระบบกฎหมายปกติไม่ได้ ควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจให้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้" และนอกจากจะถูกกลุ่มเสื้อแดงโจมตีแล้ว นพ.นิรันดร์ ยังเห็นว่าประการสำคัญคือ สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจ การลงทุน นักท่องเที่ยว เพราะเชื่อแน่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จริงอยู่สังคมไทยอาจยอมรับได้ แต่ก็สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลออกมาอย่างเด่นชัด เพราะไม่ได้มีนโยบายเชิงรุกในการบริหารงานหน่วยความมั่นคง ตำรวจ ทหารนพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุมไม่ควรยุยงให้เกิดความรุนแรง เลี่ยงการชุมนุมเกินขอบเขต ประชาชนไม่สมควรที่จะไปต่อต้านการชุมนุม รัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่สมควรที่จะใช้ความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่สำคัญรัฐบาลน่าจะมีการพูดคุยกับผู้ชุมนุมว่าจะชุมนุมอย่างไร กี่วัน ภายในขอบเขต ไม่ใช่ใช้อำนาจในการปราบปรามอย่างเดียว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังแนะว่าสถานการณ์ชุมนุมในวันที่ 12-14 มี.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย 1. รัฐบาลต้องทำให้ทุกอย่างชัดเจน ดูแลรักษาสิทธิผู้ชุมนุม ป้องกันมือที่สามสร้างสถานการณ์ 2. ประชาชนต้องเรียนรู้บทเรียนเมื่อครั้งเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา ไม่เป็นเหยื่อของ ความรุนแรง รู้เท่าทันการยุยงของกลุ่มคนบางกลุ่ม และ 3. รัฐบาลต้องแจ้งมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะNGO ค้าน กม.มั่นคง ชี้เป็น "เผด็จการเบ็ดเสร็จ"นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ครส. ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นการใช้กำลังทหาร ซึ่งจะตอกย้ำความไม่มั่นคงของรัฐ และเป็นการไม่สง่างาม เพราะกฎหมายดังกล่าวมุ่งแทรกแซง ควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก อำนาจตามกฎหมายนี้มีล้นเกินขอบเขตและความรับผิดชอบ คือ กองทัพสามารถบังคับบัญชาสั่งการหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐทุกหน่วยงานและ ทุกคนได้ มีอำนาจออกประกาศต่างๆ ที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน หรือให้อำนาจเจ้าพนักงาน ตรวจค้น จับกุม คุมขัง บุคคล ห้ามบุคคลใดๆ ออกนอกเคหะสถาน ห้ามการเดินทางตามเส้นทางต่างๆ ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังมีอำนาจย้ายข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐออกจากพื้นที่ได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กำลังเข้าปราบปรามการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นการหมิ่นเหม่ที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจาก รัฐได้ โดยอ้างความมั่นคงตามกฎหมายนี้ การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการกำหนดไว้อย่างถาวร และไม่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฏหมายหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจของข้าราชการตามหลักนิติรัฐ ทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และมีลักษณะ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"จริงอยู่รัฐบาลมีอำนาจทำได้ เพราะเกรงว่าปัญหาบานปลาย แต่ก็ต้องตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพด้วย ดังนั้นรัฐบาลสมควรจะต้องมีนโยบายอื่นๆ เพื่อเป็นการบ่งบอกว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจที่มิชอบไปลดทอนจำกัดสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง" อย่างไรก็ตาม ครส. จะจับตาการทำงานของรัฐบาลและกองทัพ ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่ามีการละมิดสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด หรือมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง เพื่อจัดทำข้อเสนอให้มีการปฏิรูปบทบาททางการเมืองและหลักสิทธิมนุษยชนของไทย ต่อไปเอกชนขานรับ เชียร์รัฐบาล ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้เหตุผลกับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เป็นการเตือนผู้ชุมนุมล่วงหน้าให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และเตือนให้ประชาชนทั่วไปมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น ภาคเอกชนเห็นว่าจะต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะถ้าเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่ากับเหตุการณ์รุนแรงและอาจเกิดปัญหาตามมาได้ ซึ่งการชุมนุมอาจจะลากยาวออกไปและมีการชุมนุมกระจายเป็นหลายจุด โดยจะส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนแย่ลงและส่งผลต่อการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้น ตัวเช่นเดียวกับ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ที่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว และมั่นใจว่าไม่กระทบถึงความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ ในทางกลับกันมองว่าน่าจะทำให้เกิดความมั่นใจมากกว่า ทั้งนี้ การเรียกร้องประชาธิปไตยแบบธรรมดาไม่น่ามีปัญหา ภาคเอกชนยอมรับได้ แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ ความรุนแรง หากเกิดขึ้นประเทศชาติก็ได้รับความเสียหาย ภาพลักษณ์ก็จะออกมาไม่ดี เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว จึงอยากให้ทุกฝ่ายควรอยู่ในกฎ กติกา เพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข.
ย้อนประวัติศาสตร์ การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ วันที่ 28 พ.ย.-14 ธ.ค. 2551 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั่วพื้นที่ กทม. มีผลในระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-14 ธ.ค. เพื่อดูแลการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงมีแผนที่จะดาวกระจายในหลายพื้นที่ รวมทั้งในช่วงนั้น รัฐบาลเตรียมพิธีและงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววันที่ 10-24 ก.ค. 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ใน จ.ภูเก็ต และพื้นที่ทางทะเล มีผลในระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค. เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงการจัดประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 42
วันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย. 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เฉพาะในพื้นที่เขตดุสิต โดยมีผลระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค. 2552 ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะระดมมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 30 ส.ค. 2552 
วันที่ 18-22 ก.ย. 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เฉพาะพื้นที่เขตดุสิต มีผลระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2552 เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยการชุนนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 19 ก.ย. 2552 

วันที่ 12-15 ต.ค. 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 12-27 ต.ค. 2552 เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ในช่วงการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพวันที่ 15-25 ต.ค.2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ควบคุมเฉพาะพื้นที่เขตดุสิต โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15-25 ต.ค. เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
ล่าสุด วันที่ 11-23 มี.ค. 2553 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี ส่วนปริมณฑลอีก 6 จังหวัดมีบางอำเภอ ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา โดยมีระหว่างวันที่ 11-23 มี.ค.นี้หมายเหตุวันที่ 11 เม.ย. 2552 รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่พัทยา และ จ.ชลบุรี แล้ว ภายหลังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งชุมนุมและพยายามขัดขวางการประชุมประชุมสุดยอด ผู้นำอาเซียน และอาเซียนและคู่เจรจา ที่ จ.ชลบุรี โดยมีผลวันที่ 11 เม.ย. 2552วันที่ 12 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ครอบคลุมในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลในบางอำเภอของ จ.นนทบุรี อ.เมือง จ.สมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลุกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และอ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทน อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา มีผลวันที่ 12 เม.ย. 2552คำถาม? หากยังมีรัฐบาลนี้อยู่ หากยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกกี่ครั้ง ความวุ่นวายจึงจะจบ คนที่เดือดร้อนยังมีอยู่มาก ชาติพังหมดแล้ว !!!