วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


'มิโล ยูคาโนวิช' นายกรัฐมนตรี มอนเตเนโกรให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี ยืนยันว่าจะไม่ส่งตัว 'ทักษิณ ชินวัตร'อดีตนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินคดีในไทยแน่นอน หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผิดจริง...สำนักข่าวแคนาดาอีสต์รายงานเมื่อวันที่ 28 พ.ค. อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีมิโล ยูคาโนวิช ต่อสำนักข่าวเอเพี โดยยืนยันว่าทางการมอนเตเนโกร จะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินคดีในประเทศไทย หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่า อดีตนายกฯทักษิณ มีความผิดจริงตามที่กล่าวหา แต่ถ้ารัฐบาลไทยนำหลักฐานชี้ชัดว่ามีความผิดจริง จะดำเนินคดีอดีตนายกฯทักษิณ ในประเทศมอนเตเนโกรเอง เพราะตามกฎหมายของมอนเตเนโกรแล้ว อดีตนายกฯทักษิณ ได้รับสัญชาติเป็นพลเรือนแล้ว และมอนเตเนโกร ไม่สามารถขับพลเรือนของตนออกนอกประเทศได้ทั้งนี้นายกฯยูคาโนวิช ระบุต่อถึงสาเหตุที่ให้ฐานะพลเรือนแก่อดีตนายกฯทักษิณ เพราะเป็นบุคคลทรงเกียรติ เคยได้รับตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง หรือนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่ถูกโค่นอำนาจโดยการก่อรัฐประหาร.

ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น

ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น

ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้นโดย ผู้จัดการ 360 : รายสัปดาห์ ตายล่ะหว่า เมืองไทย ดร.เก๊ -ไร้คุณภาพ ชอนไชทุกวงการ ตั้งแต่ราชการยันธุรกิจเอกชน - เจาะค่านิยมมนุษย์เงินเดือน ชอบเรียนเพิ่ม หวังอัปเกรด เพิ่มเงิน - เปิด 3 วิธีได้ปริญญาปลอม แฉ 3 ประเทศควรจับตา - สกอ.แบะท่า บทบาททำได้แค่ตรวจสอบ แนะหน่วยงานให้ดูแลกันเอง ผลประโยชน์ รายได้ บารมี ความเกรงใจ ความนับหน้าถือตา ความเชื่อถือ คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนได้มาจากคำนำหน้าว่า "ดอกเตอร์" หรือ "ดร." แทบทั้งสิ้น เพราะเป็นแสดงถึงผู้มีความยอดเยี่ยมทางด้านการศึกษาเล่าเรียน ความเป็นรู้รอบในสรรพวิชา ความเป็นผู้อ่านมาก และอื่นๆ แต่ถามว่าความเป็นผู้มีความรู้มาก เป็นนักปรัชญา เป็นผู้ตรากตรำ และอุตสาหะในการแสวงหาความรู้นั้น "ดร." ทุกคนในเมืองไทยมีคุณสมบัติเหล่านี้กันถ้วนทั่วทุกตัวคนหรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ใช่" เหตุผลก็คือปัจจุบันหลายสถาบันการศึกษาทั้งของไทย และต่างประเทศ ที่ใช้ "การตลาด" นำหน้า ต่างต้องการปั๊มเงินเข้ากระเป๋าทั้งของอาจารย์ผู้สอน และของมหาวิทยาลัย มิเช่นนั้นสถาบันอาจอยู่ไม่รอด อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งของประเทศ และของตน ดังเช่น หลายมหาวิทยาลัยที่ประเทศฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ จึงเร่งผลิตหลักสูตรแปลกใหม่ พร้อมลดความเข้มข้นของหลักสูตรลง เพื่อดึงคนที่ต้องการใบปริญญาบัตรระดับปริญญาเอก ที่เดิมกว่าจะได้มาต้องเรียนแทบเลือดตากระเด็น ให้เข้ามาเรียนที่สถาบันของตนให้มากขึ้นเพราะจบง่ายกว่า เข้าทำนองจะจบจากที่ไหน หลักสูตรอะไร ง่ายหรือยากไม่สำคัญ เพราะท้ายที่สุดต่างก็มีคำว่า "ดร." อยู่ข้างหน้าเหมือนกัน กับอีกเหตุผลมาจากบรรดาผู้คนทั้งในแวดวงธุรกิจเอกชนและราชการ ต่างมีความต้องการคำว่า "ดร." มาประดับคำนำหน้านาม เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตนเอง และวงศ์ตระกูล เพราะมีความเชื่อว่าคำนำหน้านี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์มีอาณิสงส์ส่งให้ตนได้มีความก้าวหน้าในชีวิตการงานที่ดีขึ้น ได้รับการยอมรับจากผุ้คนในวงสังคมมากขึ้น และที่สำคัญบางคนคิดว่าได้มาแล้วจะเป็นหนทางในการแสวงช่องทางในการทำมาหากินได้มากขึ้น และกว้างขึ้นกว่าเดิม เมื่อความต้องการทั้งของผู้เรียน และสถาบันการศึกษาสอดคล้องกันเช่นนี้ จึงหาใช่เรื่องแปลกอันใดไม่ที่ทุกวันนี้เราจะเห็น "ดร." เกิดขึ้นในบ้านเรามากมาย แถมกระจายไปสิงสถิตอยู่ทั่วทุกหัวระแหงทั้งหน่วยงานราชการ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานเอกชนอีกเพียบ หลายคนมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ แต่อีกหลายคนกลับถูกตั้งคำถามถึงความรู้ ความสามารถ เมื่อมีการถกแถลงกันในวงวิชาการ แน่นอนว่าเมื่อ ดร.กำมะลอ ที่ไม่มีความรู้เข้าสู่วงวิชาการมากขึ้น ย่อมจะผลิตคนที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่สังคมมากขึ้นตามไปด้วย แล้วคนไทยเหล่านี้จะเอาความรู้จากไหนไปแข่งขันกับคนอื่น คำถามคือว่าแล้ว คนไทย กับประเทศไทยจะทำอย่างไรกับ ดร.กำมะลอเหล่านี้ ค่านิยมปริญญาเอก ช่องทางสร้างดร.กำมะลอ ต้องยอมรับว่าค่านิยมใบปริญญาอย่างบัตรในไทยมีมาทุกยุคสมัยจากปริญญาตรี ปริญญาโท จนเกิดภาวะปริญญาโทเกลื่อนเมือง ภาพนี้ยังส่งผลไปถึงการศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่ไม่เพียงแต่เคยเกิดปริญญาเอกไร้คุณภาพ แต่ยังเป็นช่องทางการสร้างดอกเตอร์กำมะลอให้กับสังคมไทยอีกด้วย ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า ปัญหาดอกเตอร์กำมะลอในไทยเกิดจากค่านิยมของสังคมไทยที่ยึดติดกับกระดาษ (ปริญญาบัตร) และสถาบันการศึกษามากเกินไป เห็นได้จากถ้าจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้รับการยอมรับ พูดอะไรก็น่าเชื่อถือ เพราะเป็นสถาบันการศึกษาหลัก แต่ถ้าจบมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงคนก็ไม่ให้การยอมรับ นอกจากนี้ คนไทยยังเชื่อว่ามหาวิทยาลัยรัฐมีชื่อเสียงดีกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียง ยิ่งหากสามารถไปศึกษาในต่างประเทศได้ยิ่งดีใหญ่ สำหรับเหตุผลที่ทำให้กระแสการเรียนปริญญาเอกในไทยมีมากขึ้น เนื่องจากสกอ.(สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา) กำหนดว่าการเปิดหลักสูตรปริญญาโทได้จะต้องมีดอกเตอร์ที่จบในหลักสูตรนั้น 5 คน ทำให้เป็นช่องทางให้มหาวิทยาลัยหากินกับอาจารย์ที่ต้องการปริญญาเอก บทพิสูจน์ใครคือตัวจริง ด่านแรก 'ภาษาอังกฤษ' สำหรับเกณฑ์ในการประเมินว่าใครคือดอกเตอร์กำมะลอ หรือดอกเตอร์ตัวจริงนั้น ดร.สมเดช ให้มุมมองว่า ถ้าเรียนปริญญาเอกจบภายใน 2 ปี ไม่ใช่ดอกเตอร์ตัวจริงอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศ ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา 4 ปีขึ้นไป เพราะคำนิยามของดอกเตอร์ คือ นักปรัชญา ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้ง ผู้ที่สร้างสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกใบนี้ เป็นความคิดที่ไม่เคยมีมาในโลก เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ซึ่งการที่จะทำได้แบบนี้ต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือไม่ใช่น้อย เพื่อกลั่นองค์ความรู้ให้ตกตะกอนก่อน และนำมาผ่านขั้นตอนการวิจัย การศึกษาข้อมูลการวิเคราะห์ พบผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ต้องมีการลงภาคสนาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ใช้เวลาในการทำ 2 ปีอย่างแน่นอน อย่าง ถ้าไปเรียนที่อังกฤษจะต้องขึ้นสอบป้องกัน (Defence) ท่ามกลางปัญญาชนจำนวนมาก หากข้อมูลที่เตรียมมาไม่พอ หรือตอบคำถามไม่ได้ เทอมหน้าต้องกลับมาสอบป้องกันใหม่ สิ่งที่ทำมาทั้งปีจะล้มเหลวหมดต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แม้แต่ในอเมริกาก็เชื่อว่ามีการกำหนดมาตรฐานตรงนี้อยู่แล้ว "ถ้าใครจบดอกเตอร์ภายใน 2 ปี มาบอกผมได้เลย เขาเป็นจีเนียสแล้ว คนเก่งๆ ในอังกฤษยังใช้เวลาในการเรียนดอกเตอร์ 3 ปีเลย เขาเป็นเจ้าของภาษาแท้ๆ คนไทยที่เก่งๆ จบ 3 ปีก็มี แต่ถ้าบอกว่า 2 ปีจบไม่ใช่ พวกนี้ดอกเตอร์กำมะลอหมด" หากอยากรู้ว่าใครคือดอกเตอร์ตัวจริงนั้น ดร.สมเดช ให้คำแนะนำว่า ถ้าเขามาสมัครงานให้สื่อสารกับเขาเป็นภาษาอังกฤษ ให้เขาเขียนเรียงความ (Essay) เรื่องหนึ่ง หรือให้เขานำผลงานวิทยานิพนธ์มาให้ดู สิ่งเหล่านี้ช่วยพิสูจน์ได้ หรือการเช็คกลับไปยังมหาวิทยาลัยที่เขาศึกษา ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีมหาวิทยาลัยใดในไทยทำมาก่อน เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมพี่น้องเพื่อนฝูง จึงไม่มีใครกล้ามาบอกว่าคนนี้เป็นดอกเตอร์กำมะลอ "ที่ไม่มีใครกล้าพูดตรงนี้ เพราะดอกเตอร์กำมะลอบางคนสนับสนุนคนเหล่านั้นขึ้นตำแหน่งใหญ่ในมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปไม่มีมหาวิทยาลัยใดเช็ก เพราะเชื่อในตัวคนเหล่านี้ มหาวิทยาลัยจะดูแต่ประกาศนียบัตร หน้าที่การตรวจเช็คตรงนี้เป็นเรื่องของ HR แต่ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยเล็กๆ หรือเอกชน ฝ่าย HR พูดภาษาอังกฤษไม่เป็นด้วยซ้ำ รัฐมนตรีบ้านเราบางคนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยนับภาษาอะไรกับคนทำงาน HR" ในขณะที่นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยยังมีการส่งหนังสือตรวจสอบไปยังโรงเรียนของเด็กว่าจบมาจริงหรือเปล่า อย่างสวนสุนันทาเด็ก 2,000 กว่าคนมีการส่งหนังสือไปเช็กได้ แต่กับตัวอาจารย์ไม่กล้าเช็ก เพราะเกรงใจเขาแต่ไม่เกรงใจเด็ก 'ฟิลิปปินส์-อินเดีย-อเมริกา' แหล่งผลิตปริญญาปลอม? ดร.สมเดช ที่อ้างว่าได้ทุนเรียนปริญญาเอกจาก ก.พ. กล่าวถึงตลาดการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ได้รับการยอมรับในไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยจากประเทศอังกฤษ แคนนาดา ออสเตรเลีย ส่วนของอเมริกาก็มีหลายแห่งได้รับการยอมรับ แต่ก็มีอีกหลายแห่งไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากอเมริกาเป็นประเทศเสรี และทุนนิยม การเปิดมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ไม่ยากทำให้ที่ผ่านมาอเมริกาเกิดมหาวิทยาลัยห้องแถวจำนวนมาก โดยมหาวิทยาลัยห้องแถวนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งนั้น ในขณะที่อังกฤษไม่สามารถตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบนี้ได้ เพราะเขามีองค์กรตรวจสอบ การตั้งมหาวิทยาลัยหอแถวไม่เพียงแต่ในอเมริกาเท่านั้นที่สามารถทำได้ แม้แต่ในไทยเองก็สามารถทำได้ เพียงแต่สกอ.ไม่ให้การรับรองเท่านั้นเอง พร้อมระบุแหล่งการผลิตดอกเตอร์กำมะลอว่า มีอยู่ในอเมริกา คือ มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน มหาวิทยาลัยโนอาร์ ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย ก็มีหลายมหาวิทยาลัย ส่วนในอังกฤษไม่มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตดอกเตอร์กำมะลอ ถ้ามีก็จะเป็นมหาวิทยาลัยจากอเมริกาเข้ามาตั้งมากกว่า สำหรับปริญญาบัตรที่ดอกเตอร์กำมะลอได้มามีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.จากเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้สามารถทำปลอมใบปริญญาบัตร หรือทรานสคริปต์ ขึ้นมาจนเหมือนของจริงมาก แล้วนำหลักฐานปลอมพวกนี้ไปสมัครงานตามสถาบันการศึกษา หรือตามบริษัทเอกชน "เอาว่าเรื่องนี้เรื่องจริงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เอาวุฒิปลอมมาสมัครเป็นอาจารย์ ใช้ทรานสคริปปลอมด้วย แล้วตรวจสอบเจอต้องไล่ออกเลย ถามว่าที่นี่มีไหม เคยมีอาจารย์อย่างนี้มาสมัคร ผมเช็ค แต่โดยทั่วไปเขาไม่เช็ค เพราะสังคมไทยไว้ใจกัน เอาง่ายๆสมมติมีดอกเตอร์มาสมัครงานที่นี่มีใครจะเอาวุฒิของเขากลับไปถามมหาวิทยาลัยนั้นหรือไม่ ว่าจบจริงหรือเปล่า ผมเชื่อเลยว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยปริญญาเก๊หรือปลอมอยู่ ลองเช็คจริงๆสิรับรองว่าเจอ" 2. ได้มาด้วยการซื้อปริญญาบัตร โดยความเชื่อส่วนตัวของ ดร.สมเดช คาดว่าปริมาณของคนที่ซื้อปริญญาบัตรมามีประมาณ 1% ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมดในไทยถือว่าเป็นจำนวนที่มากหรือบางคนเอางานวิจัยของคนอื่นมาแปลแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาให้ผ่าน โดยไม่มีการตรวจสอบว่าวิทยานิพนธ์นี้เป็นของคนอื่น 3. ได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยที่ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ไม่ได้รับรอง หรือรับรองบางหลักสูตรเท่านั้น "มหาวิทยาลัยที่ขายปริญญาเขาไม่ได้ผิดกฎหมายโดยเฉพาะที่อเมริกา เพราะคนซื้ออยากจะซื้อ คนขายก็ทำออกมาขาย ยังมีการขายในเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย มีประโยคหนึ่งที่คนในวงการศึกษาชอบพูด คือ แมวสีอะไรก็จับหนูได้ เรียนดอกเตอร์ที่ไหนก็เหมือนกัน" สำหรับปริมาณการเกิดดอกเตอร์กำมะลอนั้นจะเกิดในประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เพราะประเทศพัฒนาเขาไม่ได้สนใจการเรียนดอกเตอร์ แต่คนไทยเชื่อฟังคนที่เป็นดอกเตอร์ ถ้าไม่จบดอกเตอร์ไม่ค่อยมีคนสนใจ นอกจากนี้ นักศึกษาทุนหากเรียนไม่จบเขาจะต้องกลับมาชดใช้ทุน บางคนจึงเลือกซื้อปริญญาบัตรหรือเรียนในมหาวิทยาลัยที่จบง่ายๆ แทน แต่ถ้าเป็นนักศึกษาทุนของก.พ.ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องให้ส่งผลการเรียนให้ก.พ.ทราบตลอด ดังนั้น ก.พ.จะเป็นตัวช่วยกรองคุณภาพของดอกเตอร์ระดับหนึ่ง ดร.สมเดช ยังได้ให้เหตุผลที่ทำให้มหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์และอินเดียเป็นแหล่งผลิตปริญญาปลอม เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี เขาอยากได้ค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติ เช่น ค่าเรียนปริญญาเอกที่ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 3 ล้านบาท อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะได้ 40% ดังนั้น ถ้าอาจารย์ให้นักศึกษาผ่านง่ายๆ เขาก็จะได้เงินมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวเกิดขึ้นมาตลอดในช่วง 5 ปีมานี้และเพิ่มปริมาณที่มากขึ้น โดยความรู้ที่ดอกเตอร์เหล่านี้ได้มาเป็นความรู้ที่ไม่สามารถนำมาพัฒนาประเทศของตัวเองได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้เขาก็ไม่สนใจ เพราะไม่ใช่ประเทศของเขา ในความคิดของตนเองแล้วอยากจะสนับสนุนให้คนไทยเลือกเรียนในไทยแทน อย่างน้อยอาจารย์คนไทยก็อยากจะเห็นคนไทยได้ดี แต่ประเทศอื่นเขาไม่มาสนใจเรื่องนี้ แตกไลน์ดอกเตอร์ ปั้นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากกระบวนการขายปริญญาบัตรแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกาพยายามออกหลักสูตรปริญญาเอกที่เป็นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่าง ดอกเตอร์ด้านธุรกิจ, ดอกเตอร์ด้านการศึกษา เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้นักวิชาการต้องหาจุดขายใหม่ๆ ของหลักสูตร หลักสูตรเฉพาะที่ผลิตขึ้นมาใหม่นี้เขาหากินกับนักธุรกิจ เพราะนักธุรกิจไม่อยากจะทำวิจัย แต่อยากจบดอกเตอร์ "อเมริกามองว่าหลักสูตรแบบนี้ขายได้ ลูกค้าพอใจจะซื้อก็ทำขาย คุณภาพมีไม่มีไม่ใช่เรื่องของเขา อย่าง คณะของผมก็มีการเปิด BBA เพราะเราเอาต้นแบบมาจากอเมริกา แต่ของเราใช้เวลาเรียน 3 ปี มหาวิทยาลัยในไทยไปรับวัฒนธรรมอเมริกามาก เรามองการศึกษา คือ การค้า หลักสูตรจะอยู่รอดต้องสร้างแบรนด์ตัวเอง ต้องทำสินค้าให้หลากหลาย ตอบสนองตลาด" หากนำระบบการศึกษาแบบอังกฤษเข้ามาจะไม่เหมาะสมกับคนไทย เพราะการศึกษาแบบอังกฤษเป็นการเรียนแบบไม่มีเวิร์คคอร์ส นักศึกษาจะต้องค้นคว้า วิจัย ศึกษาด้วยตัวเอง แล้วนำข้อมูลขึ้นสอบป้องกันซึ่งคนไทยไม่คุ้นเคยกับระบบนี้แต่คุ้นกับระบบอเมริกา อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ ดร.สมเดช ซึ่งเป็นนักวิชาการที่จบปริญญาเอกมาอย่างถูกต้องนั้น มองว่า ดอกเตอร์ที่ไม่ได้ทำวิจัยถือว่าเรียนจบปริญญาเอกคนละระดับ จะมาบอกว่าเรียนง่ายกว่าแล้วเป็นดอกเตอร์ไม่ถูกต้อง 'ไทย' แหล่งใหม่ ผลิต-ขายปริญญาปลอม ดร.สมเดช ยังได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการศึกษาของไทยในอนาคตว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นเหมือนกับฟิลิปปินส์ และอินเดีย คือมีการขายปริญญาบัตร เห็นได้จากมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เปิดหลักสูตร MBA Exclusive เขาไม่ได้มองว่าคนมาสมัครเกรดเท่าไร แต่ถามว่ารายได้เท่าไร มีเงินเรียนหรือไม่ "ตอนนี้การศึกษาไทยมันเละมาก ปริญญาโทไม่มีคุณภาพเหมือนกับในอดีตแล้ว มีแต่ทำ IS (รายงานส่วนบุคคล) ไม่มีทำวิทยานิพนธ์เลย หรือถ้ามีวิทยานิพนธ์ที่ทำกันออกมาก็ซ้ำๆ กันไปหมด ลอกกันเลยก็มี อาจารย์ก็ไม่มีเวลาตรวจ ไม่มีเวลาไปอ่านวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยอื่นก็ไม่รู้เด็กลอกใครมา พอวันหลังจับได้ว่าเขาลอกมาก็ไม่กล้าขอปริญญาคืน กลัวคนเขาว่าอาจารย์ตรวจไม่ดีเอง ก็ต้องหาข้ออ้างยังไงก็ได้ให้วิทยานิพนธ์นี้เป็นวิทยานิพนธ์ที่ดี" อย่างไรก็ดี ในส่วนของปริญญาเอกยังนับว่าไม่เละเหมือนกับปริญญาโท เนื่องจากอาจารย์ไทยมีอีโก้มาก มองว่าตัวเองเรียนมายากก็ไม่อยากให้คนอื่นจบง่ายๆ ป.เอก 'มรภ.สวนดุสิต' สร้างนิยาม "จ่ายครบจบแน่" สำหรับหลักสูตรปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ที่สร้างโดย รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Management Program) เมื่อ 5-6 ปีก่อน จนเกิดปรากฎการณ์คนไทยแห่เรียนดอกเตอร์อย่างล้นหลาม เนื่องจากหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรปริญญาเอกแรกของไทย เพราะที่ผ่านมาปริญญาเอกในไทยส่วนใหญ่จะเป็นปรัชญาดุษฎีบัณฑิตซึ่งมักเน้นในเรื่องของการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเชิงวิชาการ ที่สำคัญเปิดกว้างสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพราะมองว่าคนไทยเก่งๆ มีมาก แต่มีจุดอ่อนด้านภาษา นอกจากนี้ ยังเน้นการให้นักศึกษาสามารถเรียนจบได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยโครงการจะเร่งรัดในเรื่องของการค้นหาหัวข้อวิจัย ทำอย่างไรให้สอบหัวข้อให้ผ่าน วิธีการนำเสนอดุษฎีนิพนธ์แต่ละขั้นตอน ทั้งมีวิธีการเรียนการสอนแบบบล็อกคอร์ส คือการให้ผู้เรียนเรียนจบไปทีละวิชาภายในเวลาที่กำหนด ซึ่ง รศ.ดร.เสรีมองว่าการที่ช่วยนักศึกษาแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าหลักสูตรจะการันตีว่าต้องจบแน่นอน แต่หลักสูตรใส่ใจผู้เรียนมากกว่า จนกล้าพูดได้ว่า ถ้าผู้เรียนทำตามที่ชี้แนะก็เรียนจบ แต่ถ้าไม่ทำตามก็ช่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวในแวดวงการศึกษาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ว่า หลักสูตรของรศ.ดร.เสรีนั้น สกอ.ไม่ได้รับรองวุฒิให้กับบัณฑิตทุกคน แต่รับรองเป็นรายบุคคล เพราะมองว่าหลักสูตรไม่มีคุณภาพ โดยดูจากเนื้อหาการสอน ผลงานวิจัย ตำรา การทำวิทยานิพนธ์ ฯลฯ ทำให้คนเหล่านี้เข้ารับราชการไม่ได้แต่บางคนก็ไม่สนใจ เพราะไปสมัครทำงานกับเอกชนแทน โดยขณะนี้มีการฟ้องร้องกันอยู่กับศาลปกครอง "หลักสูตรของ รศ.ดร.เสรีเป็นจุดที่ทำให้เห็นภาพปริญญาเอกเป็นธุรกิจ ซื้อขายกันได้ เพราะเขาเป็นนักการตลาดคนดัง คนสนใจมาเรียน 200-300 คน มหาวิทยาลัยต่างประเทศรับปริญญาเอกเขารับแค่ 10 คนต่อปีเอง ก่อนจะเรียนต้องบอกหัวข้อวิทยานิพนธ์ก่อน แต่หลักสูตรนี้ไม่ต้องบอกว่าจะทำหัวข้อใดก็เรียนได้เลย" ปั้น"ดอกเตอร์" ไม่ง่ายอย่างที่คิด เดิมทีนั้นกว่าใครสักคนจะคว้าปริญญาเอกมาครอบครองได้นั้น ต้องทั้งเรียนทั้งอ่านจนเลือดตาแทบกระเด็น ต้องคนมีมันสมองระดับเกินคนธรรมดาถึงจะสามารถเรียนได้ ทำให้แทบทุกคนต่างศรัทธา เชื่อมั่นว่าคนที่เก่ง เรียนมาก รู้มาก รู้ลึก รู้กว้าง คือคนที่น่าเชื่อถือ ทุกคนต่างให้การยอมรับนับถือทันทีแม้จะยังไม่ทันได้เอื้อนเอ่ยคำใดๆออกมา แม้ในปัจจุบันความเชื่อที่ว่านี้ก็ยังติดอยู่ในความคิดของคนอีกหลายต่อหลายคน เดิมทีอีกเช่นกันว่าสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการต่างรู้เรื่องนี้ดี จึงจัดการสนองความต้องการของผู้บริโภคเหล่านี้ โดยมีโครงการผลิตนักวิชาการระดับปริญญาเอกออกมา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แบบไม่มีเจตนาร้ายหรือหลอกต้มแต่อย่างใด ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค(สคบ.) ต่างไม่มีความรู้ที่จะเข้าไปคุ้มครองผู้บริโภค ปล่อยให้ทบวงฯทำหน้าที่โดยตรงก็เพียงกำหนดมาตรฐานไว้ในแผ่นกระดาษเท่านั้น โดยไม่มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมดีเท่าที่ควร ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเรียนเอง ทั้งที่ประชาชนก็ไม่มีความรู้ข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินความถูก-ผิดได้ สอดคล้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ไม่ออกมาให้ความจริงต่อสังคม ที่ผ่านมามีการเปิดสอนระดับปริญญาเอกจากหลายประเทศ ทั้งอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา บางแห่งก็มีเข้ามาผลิตในไทย ทั้งที่เข้ามาแอบเปิดหลักสูตรตามโรงแรม ตามสถาบันการศึกษา โดยมีคนไทยเป็นนายหน้าชักจูงเข้ามาเรียน ขณะเดียวกันก็มีบางแห่งมาในรูปความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฏ ว่ากันว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นดอกเตอร์มักจะมีมากมายมหาศาล สังเกตได้จากปัจจุบันหากวิทยาลัยและสถาบันต่างๆต้องการเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยนั้น สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีอาจารย์ปริญญาเอกอยู่ในอัตราร้อยละ 3 ต่อจำนวนนักศึกษา แม้จะเป็น ดร.จริงบ้าง เก๊บ้าง ถ้าทบวงฯไม่มีการทักท้วง ก็สามารถขอเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยเป็นสถาบัน และจากสถาบันเป็นมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งทุกแห่งอยากมีคำนำหน้าเป็นมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น เนื่องจากได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและนักศึกษามากกว่า ขณะเดียวกันการมี ดร. นำหน้าจะมีรายได้จากการสอนหลักสูตรปริญญาโทและเอกมากขึ้น เพราะสามารถสอนระดับดังกล่าวได้ อัตราค่าจ้างสอนก็จะสูงขึ้นตามในบัณฑิตวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในแต่ละภาคเรียนจะสามารถทำเงินนับแสนบาทเลยทีเดียว เช่น อัตราค่าสอนหากมี "ดร." นำหน้าจะเพิ่มขึ้นจากหลักพันต้นๆ ไปเป็น 2 พัน 5 พันถึง 1 หมื่นบาท ส่วนจะแพงมากหรือน้อยขึ้นกับชื่อเสียงของวิทยากรท่านนั้น และค่าเล่าเรียนของแต่ละหลักสูตรด้วย นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันตามไปด้วยเช่นกัน เช่น รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะอยู่ที่ 3 พัน- 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์จะอยู่ที่ 2 - 5 หมื่นบาทต่อเทอม ที่สำคัญสามารถยกระดับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ได้ ส่งผลทำให้มีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระ ซึ่งเชื่อกันว่าปริญญานิพนธ์ 1 เรื่องจะได้รับเงินค่าที่ปรึกษาประมาณกว่า 10,000 บาทขึ้นไป และดอกเตอร์หนึ่งคนสามารถเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาปริญญาโทและเอกได้รุ่นละ 5 คน (ที่ปฏิบัติกันอยู่ไม่เกิน 5 รุ่น) การค้นคว้าอิสระ 10 คน รายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน หากเรียนจบถึงระดับดอกเตอร์แล้วตำแหน่งอธิการบดีจึงไม่ไกลเกินเอื้อมแถมมีคนเชื่อถือ ทำให้มีหน้าตาในสังคมสามารถเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีอย่างมีศักดิ์ศรี ข้อมูล จาก https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjp37BIuNbU-Pjg_JWZS2mzj7o2d2FEnrqJivtq-MAQkz9VZNa9g0ARemqAEJKFRlKacJ69HGo3SIacMkUdq91CgYE_NFmNCAOlwaDdCXg9FHl3A3pb1donw3bpfei_bGxHQfVkqFTmM34/s1600-h/ดร.กำมะลอ+ระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น-new.jpg

รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์" ว่า ดอกเตอร์ประเทศไทยมาจากสองสายด้วยกันคือจากเรียนรู้ด้านวิชาการ กับไม่ได้จบจากด้านวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาการเป็นดอกเตอร์ที่มาจากนักวิชาการจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้มามากทั้งด้านบริหารจัดการและการศึกษา ขณะที่ดอกเตอร์ที่ไม่ได้มาจากวิชาการนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่มีประสบการณ์ความรู้เฉพาะทางทำให้ถูกสถาบันอุดมศึกษามอบดีกรีให้เป็นถึงด๊อกเตอร์ "ที่ผ่านมาการได้ผู้รู้ระดับดอกเตอร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงวิชาการเท่านั้น ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้วเพราะดอกเตอร์เริ่มเข้าสู่สาขาแขนงวิชาต่างๆมากขึ้นจากการหยิบยื่นของสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการนำบุคคลสำคัญมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับองค์กรทำให้ประเทศไทยมีดอกเตอร์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก"ดร. ปาริชาต กล่าว ว่ากันว่ากลุ่มของผู้ที่อยากเป็นดอกเตอร์นั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ผู้ที่มีอายุกว่า 20 ขึ้นไป กับ ผู้ที่มีอายุกว่า 50 ขึ้นไป โดยปัจจุบันทั้งสองกลุ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นหากเปรียบเทียบกับในอดีต ขณะเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาต่างๆต้องมีระบบประกันคุณภาพและต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อไม่ปล่อยให้ดอกเตอร์ที่ไม่มีคุณภาพออกสู่ตลาด เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรทั้งระบบ "โดยส่วนตัวเข้าใจว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆคงจะไม่มีส่วนผลิตด๊อกเตอร์ที่ไม่มีคุณภาพออกมาอย่างแน่นอน เพราะมาตรฐานและคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญของสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ"ดร.ปาริชาต ให้มุมมองไว้ มาตรฐานคุณภาพ "ดอกเตอร์"ไทย สำหรับผู้ที่ศึกษาในระดับดอกเตอร์ ซึ่งได้ศึกษาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องการแสวงหาความรู้ มีการเรียน การสอบจริงๆ ผ่านกระบวนการวัดและประเมินผลที่ถูกต้อง และมหาวิทยาลัยได้ประสาทปริญญาแล้ว จะตีขลุมว่าทุกคนทุกมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการรับรองทั้งหมดก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เป็นการโยนบาปให้กับนักศึกษาเหล่านั้นและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง จะกลายเป็นว่าคนที่แสวงหาความรู้และใฝ่รู้เป็นบุคคลที่ผิด มีคำถามว่าทำไมจึงมีคนอยากเรียนปริญญาเอก และมาตรฐานของคำว่า "ดอกเตอร์"นั้นอยู่ตรงไหน? ปัจจุบันผู้ที่ต้องการศึกษาปริญญาเอกมีความต้องการในด้านนี้สูงมาก เนื่องจากการขยายตัวของสถาบันการศึกษาและการขยายตัวของระดับการศึกษา จะเห็นได้ว่าเกือบทุกสถาบันมีการเปิดสอนระดับปริญญาโท แต่ที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพเพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทนั้นมีอยู่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันผู้ที่ศึกษาปริญญาเอกจริงๆ เพื่อต้องการพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาองค์กรของตน หรือเพื่อการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ จะต้องแสวงหาแหล่งศึกษา โดยมากบุคคลที่ต้องการศึกษาปริญญาเอกเหล่านี้มีหน้าที่การงานอยู่แล้ว มีเวลาอันจำกัด อยากจะใช้เวลาว่างในตอนเย็นหลังเลิกงานหรือวันเสาร์-อาทิตย์ หรือในช่วงปิดเทอม ไปศึกษา เพื่อเพิ่มวิทยฐานะ ที่ผ่านมาเมืองไทยจะมีสถาบันอุดมศึกษาที่จะตอบสนองความหลากหลายในการศึกษาระดับปริญญาเอกนั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่มักจะเป็นการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้วในสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีการเปิดทำการสอนระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ระยะเวลาศึกษาก็ถูกลดให้เหลือเพียงไม่เกิน 4 ปี โดยอ้างถึงความได้มาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วถ้ามีความพร้อมและมีการบริหารจัดการดีๆ แล้ว การใช้ระยะเวลาศึกษาเพียง 3 ปี ก็น่าจะสำเร็จการศึกษาได้ ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษา ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีการจัดการศึกษาที่หลากหลาย มีทั้งของรัฐและเอกชน มีมาตรฐานสูงและมาตรฐานต่ำ คละเคล้ากันไป ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าจะมีการเรียนการสอนที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วจะกลายเป็นดอกเตอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานไปด้วยนั้น อาจถูกผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ว่าเป็นดอกเตอร์ของจริงหรือไม่ ส่งผลทำให้ผู้ที่เรียนศึกษาปริญญาเอก ซึ่งได้ใช้เวลาศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ มีการวัดผลประเมินอย่างเป็นระบบจากมหาวิทยาลัย มีการสอบ(Comprehensive) มีการทำ Dissertation ที่ได้มาตรฐาน และได้รับการประสาทปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมาแล้ว บุคคลเหล่านี้อาจกลายเป็นตัวประหลาดที่ถูกสังคมดูแคลน โดยอ้างว่า "ไม่ได้มาตรฐาน"ก็เป็นได้ ที่สำคัญหลักสูตรของการเรียนดอกเตอร์คงต้องมีความเข้มข้นและต้องมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อฝึกคนให้เข้าไปสร้างการยอมรับของสังคม โดยเฉพาะเรื่องของภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศที่มีบทบาทต่อการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกันผู้เรียนต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการใช้ภาษาต่างประเทศ "อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งสองสถาบันมีการเข้มในเรื่องของภาษาอังกฤษมาก หากผู้ที่เรียนระดับดอกเตอร์ต้องสามารถอ่านเขียนและพูดได้ในระดับดีทีเดียว เพราะการเรียนระดับปริญญาเอกนั้นหากภาษาอังกฤษไม่เก่งก็จะสอบไม่ผ่าน และจะถูกสกรีนให้ออกไปจากสถาบันตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดอกเตอร์ไม่มีคุณภาพ"ดร.ปาริชาต กล่าว นอกจากนี้กลุ่มที่เรียนระดับดอกเตอร์ต้องมีไม่เกิน 25 คนต่อห้องถึงจะเหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนเนื่องจากสามารถบริหารจัดการเพื่อดูแลการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ปัจจุบันมาตรฐานของดอกเตอร์มีคุณภาพหรือไม่นั้น ไม่มีใครรู้ว่าเป็นด๊อกเตอร์ตัวจริงหรือตัวปลอม และไม่อยู่ในระบบการตรวจสอบ เพียงแค่มีคำนำหน้าว่า "ดอกเตอร์"ในนามบัตร หรือทำปริญญาบัตรปลอมที่คล้ายของจริงก็สามารถวิ่งเต้นเข้าสมัครงานในหน่วยงานที่ต้องการ ซึ่งหากเป็นหน่วยงานของภาครัฐก็อาจจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้นและคงไม่มีดอกเตอร์ตัวปลอมคนไหนหลงเข้าไปสมัครงานในหน่วยงานของรัฐอย่างแน่นอน เพราะหากตรวจสอบพบว่าไม่ได้จบด๊อกเตอร์มาก็จะมีขบวนการฟ้องร้อง ถอดถอน ปัจจุบันมีหน่วยงานตรวจสอบแล้วเพื่อถอดถอนใบปริญญาบัตร ขณะเดียวกันองค์กรหรือสถาบันก็มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ด้วยเช่นกัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลดีกับด๊อกเตอร์ตัวจริงให้มีความรับผิดชอบต่อผลงานตัวเองในการทำวิจัย เพื่อให้คุณภาพมีมากขึ้น ขณะเดียวกันการสมัครงานในบริษัทเอกชน แม้ว่าจะไม่มีการตรวจสอบว่าจบดอกเตอร์มาอย่างเข้มข้นก็ตาม ซึ่งเชื่อได้ว่าบริษัทเอกชนอาจไม่สนใจคำนำหน้ามากนัก โดยอาจจะดูจากผลงานที่นำเสนอเข้ามา และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรได้เท่านั้นคงเพียงพอ ดังนั้น การได้ปริญญาบัตรระดับดอกเตอร์มาครอบครองจึงไม่ใช่ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการศึกษา แต่เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นมากกว่า พร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุงให้คุณภาพมีมากขึ้น และสามารถสร้างคุณค่าให้กับผลงานของตัวเองดีขึ้นด้วย และยิ่งมีอุปสรรคมากเท่าไรถือเป็นโอกาสของการเรียนรู้ในระบบของการพัฒนาตัวเองและสังคมต่อไป ดังนั้นการลอกเลียนงานวิจัยเพื่อให้จบในระดับปริญญาเอกนั้น เชื่อได้ว่าจะไม่สำเร็จในชีวิตการทำงาน เพราะปัจจุบันมีระบบการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พร้อมกับเฝ้าระวังในการยกระดับคุณภาพทั้งตัวเองและสังคมไปด้วยกัน แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม การศึกษาของไทยซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการ "พัฒนาคน พัฒนาชาติ" จะดิ่งเหวลงไปเรื่อยๆ ขาดความถูกต้อง ไร้คุณภาพ ขาดความหลากหลาย ขาดวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษา และไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ ควบคู่ไปกับสภาพการแข่งขัน และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกได้เลย ********** บทบาท สกอ.แค่ตรวจสอบ แนะสภามหา'ลัยต้องช่วยดูแล ปัญหาดอกเตอร์กำมะลอที่เดินเพ่นพ่านอยู่ในสังคมทั้งในภาคการศึกษา และภาคธุรกิจเวลานี้ หากจะมองหาหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของเรื่องนี้ ชื่อของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ.คงเป็นชื่อที่ถูกนึกถึงเป็นหน่วยงานแรกๆ แต่หนึ่งในข้อพันธกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา คือ เป็นผู้ดำเนินการในระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งหากตีความหมายแล้วพบว่า หน่วยงานที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนตำรวจคอยตรวจจับสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรในการผลิตดอกเตอร์ไม่ได้มาตรฐาน หรือไล่จับดอกเตอร์ปลอมที่ถือปริญญาเก๊ แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะความจริง สกอ.มีหน้าที่เฉพาะในส่วนของสถาบันการศึกษา ทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบหลักสูตรเท่านั้น ซึ่งหากหลักสูตรของสถาบันการศึกษาใดยังไม่ผ่านการรับรอง เหมือนเช่นกรณีที่เกิดกับหลักสูตรปริญญาตรี ของคณะพยาบาลศาสตร์ของวิทยาลัยนครราชสีมา ที่ไม่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล และมีผู้มาร้องเรียน ก็จะเข้าตรวจสอบและลงโทษในกรณีที่มีความผิดจริง สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า แม้หน้าที่ของ สกอ. คือการติดตามการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับ ซึ่งหมายรวมถึงระดับปริญญาเอก แต่ก็ยอมรับว่าถึงวันนี้ สกอ. ยังไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบการเรียน การสอน รวมถึงหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มแข็งได้ เพราะหลักสูตรระดับอุดมศึกษาที่มีจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นในทุกปี ประกอบกับความจำกัดในหลายๆ ด้านของ สกอ. ทำให้สามารถทำได้เพียงการตรวจสอบหลักสูตรที่มีการร้องเรียน หรือร้องขอเข้ามาเท่านั้น "นับตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้อาจารย์ประจำหลักสูตรระดับปริญญาโท ต้องจบปริญญาเอกเท่านั้น ทำให้ความต้องการผู้จบปริญญาเอกสูงขึ้น ยิ่งทำให้ สกอ. ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบที่มากขึ้น ดังนั้น การตรวจสอบโดยทั่วไปจึงทำได้ไม่เต็มที่ หลักสูตรปริญญาทั้งเอก โท และตรีที่มีอยู่มากมาย สกอ.ไม่สามารถออกไปตรวจสอบได้ทุกหลักสูตร เราทำได้เพียงในกรณีที่มีการร้องเรียน หรือมีการส่งเรื่องมาจากมหาวิทยาลัยให้รับรองหลักสูตรใดๆ โดยขั้นตอนการตรวจสอบ โดยเฉพาะในส่วนของหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า สกอ.จะทำหน้าที่ตรวจสอบทั้งระบบ มิใช่การตรวจสอบเฉพาะระดับการเรียนที่ได้รับการร้องให้ตรวจสอบเท่านั้น แต่ต้องศึกษาถึงระบบการศึกษาในประเทศนั้นๆ ทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ดูหลักสูตรที่สอน จำนวนปีที่เรียน เพื่อเทียบกับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย ว่ามีมาตรฐานทัดเทียมกันหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยสำรวจพบสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่มีหลักสูตรต่ำกว่ามาตรฐานที่ สกอ.วางไว้ ส่งผลให้ดอกเตอร์ที่จบจากสถาบันนั้นไม่ได้รับการรับรอง อย่างไรก็ตาม สุเมธ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ สกอ. มีเพียงเท่านั้น ส่วนในหน้าที่ที่จะชี้ว่า ดอกเตอร์คนใดถือปริญญาปลอมหรือไม่ หรือจบมาจากสถาบันนั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เกินอำนาจหน้าที่ของ สกอ. แต่เป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองที่จะเข้าไปตรวจสอบ เลขาธิการ กกอ. กล่าวเสนอถึงแนวทางที่จะสร้างมาตรฐานหลักสูตรปริญญาเอก เพื่อให้ดอกเตอร์ที่จบออกมามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพ หมายถึงสภามหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทในการดูแลกันเอง ควบคุมคุณภาพของหลักสูตรให้อยู่ในมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ มาตรฐานอยู่ที่หลักสูตร ซึ่งตนก็เชื่อว่าแม้ สกอ. จะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหลักสูตรทั้งหมดที่มีได้ แต่หลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ล้วนมีมาตรฐาน เพราะเป็นชื่อเสียงของสถาบัน ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่จบปริญญาเอกด้าน Doctor of ... มีมาตรฐานต่ำกว่าผู้จบ Ph.D. ก็ไม่เป็นความจริง เพราะ Doctor of ... เป็นการเรียกชื่อปริญญาเอกของหลักสูตรด้านวิชาชีพ เช่น Doctor of Art หรือ Doctor of Engineering ฯลฯ ความสำคัญอยู่ที่หลักสูตรที่ได้มาตรฐานเท่านั้น "คุณภาพเป็นสิ่งที่ยอมกันไม่ได้ องค์กรวิชาชีพต้องเข้ามามีบทบาท ร่วมกับ สกอ. ที่จะดูแลควบคู่กัน เพื่อสร้างมาตรฐานของผู้สำเร็จการศึกษาให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม" ตัวอย่างที่ผ่านการรับรองจาก สกอ. เช่นกรณี ดร.นพ.ประยงค์ เต็มชวาลา ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า ได้ส่งหลักสูตรนี้ไปให้ทางคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณา และได้รับการรับรองหลักสูตรก่อนการเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เปิดรุ่นแรก เมื่อปีการศึกษา 2550 *********** 5 มาตรการกั้น "ดร.กำมะลอ" ไม่มีใครรู้ได้ว่า "ดอกเตอร์" ในเมืองไทยมีจำนวนตัวเลขกลมๆ เท่าไร แต่ที่แน่ๆ มีทั้งของจริงและของปลอมปะปนกัน ดังนั้นเคยมีแนวคิดของ ดอกเตอร์ตัวจริงเสียงจริง ที่นำเสนอข้อคิดเพื่อสกัดกั้นความเป็นดอกเตอร์เก๊ให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งมีหลายขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการ ออกคำสั่งให้สภามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย, สภาประจำสถาบันราชภัฏทุกแห่ง รายงานข้อมูลบุคลากรภายในสถาบันที่ประกาศว่าตนมีวุฒิปริญญาเอก ให้กรอกรายการการศึกษา สถาบันที่จบ ปีที่จบ วุฒิที่ได้ ให้รับรองด้วยว่า วุฒิดังกล่าวทบวงฯ และ ก.พ.รับรอง แจ้งให้ทบวงฯ กระทรวงศึกษาฯ ทราบ หากความปรากฏต่อมาภายหลังว่า ข้อความในรายงานไม่เป็นจริง ผู้รายงานมีความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ขั้นที่ 2 กระทรวงศึกษาฯ ต้องสำรวจและประกาศรับรองคณาจารย์แต่ละสถาบัน เฉพาะผู้ที่มีวุฒิตามที่ทบวงฯ และ ก.พ.รับรอง ให้ทำการสอนได้ภายในเดือนมิถุนายนของทุกปีการศึกษา ผู้ชำนาญหรือเชี่ยวชาญพิเศษ แต่วุฒิไม่เป็นไปตามกำหนดให้ทำเรื่องขออนุมัติปีต่อปี รายงานประจำปีของทุกมหาวิทยาลัย ทุกสถาบันราชภัฏให้รายงานข้อมูลบุคลากรของสถาบัน พร้อมวุฒิการศึกษา มหาวิทยาลัยและปีที่จบด้วย ขั้นที่ 3 กระทรวงศึกษาฯ ต้องประกาศว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันราชภัฏ ทำการโฆษณาหลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผู้บริหารก็ดี ผู้สอนก็ดี เป็นดอกเตอร์ที่ทบวงฯ และ ก.พ.รับรอง เมื่อปรากฏความชัดเจน นักศึกษาอาจรวมตัวกันร้องเรียนทบวงฯ กระทรวงศึกษาฯ หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ คือเสียเวลา หลงเชื่อในสินค้าที่คุณภาพไม่เป็นไปตามโฆษณา ทบวงฯ กระทรวงศึกษาฯ หรือศาลอาจสั่งให้คืนค่าเล่าเรียนพร้อมค่าเสียโอกาส เสียขวัญ กำลังใจ และเสียศักดิ์ศรีได้ ขั้นที่ 4 กระทรวงศึกษาฯ ต้องประกาศว่า ผู้ใช้คำนำหน้าชื่อ ดร.เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสอน โดยรู้อยู่เต็มอกว่า ก.พ.ไม่อนุญาตให้เลิกใช้คำนำหน้า ดร.โฆษณาในเอกสารจูงใจเพื่อการศึกษาทุกประเภทตั้งแต่บัดนี้ รวมทั้งต้องไม่มีโฆษณาในหนังสือคู่มือการศึกษาด้วย ขั้นที่ 5 กระทรวงศึกษาฯ เองจะต้องตระหนักว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่โดยกฎหมายละเว้นการปฏิบัติปล่อยให้มีดอกเตอร์ของปลอมมาทำการสอนในสถาบันการศึกษาที่ตนมีหน้าที่ควบคุมคุณภาพแทนผู้บริโภค เหมือนกระทรวงสาธารณสุขไม่ควบคุมคุณภาพหมอในโรงพยาบาล มีหมอเถื่อน หมอเก๊ รักษาคนไข้ตาย กระทรวงอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับร้อยล้านได้ อยากให้คิดใหม่ลองทำดู อย่างน้อยก็ได้ประโยชน์โดยตรงกับผู้เรียนที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่ความรู้จอมปลอม ที่หากไปแข่งขันกับต่างชาติก็มักจะได้ลำดับท้ายๆ เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งสุดท้ายประเทศไทยก็อาจจะมีดอกเตอร์กำมะลออยู่เต็มเมืองก็เป็นได้!!

************************************ผู้จัดการ 360 : รายสัปดาห์ 22-28 ก.พ. 2553


จับตาค่านิยม "มนุษย์เงินเดือน" ไทย แห่เรียน "ดอกเตอร์" ปรับวุฒิอัปเงินเดือน ปัจจุบันค่านิยมทางการศึกษาไทยได้มีการขยับการยอมรับในระดับปริญญาโท ซึ่งต่างจากที่ผ่านมาที่ระดับการศึกษาปริญญาตรีก็เพียงพอแล้ว กระแสความนิยมในสังคมดังกล่าวนี้สะท้อนภาพกระแสการเห่อเรียนระดับปริญญาเอกของสังคมไทยเมื่อ 5 ปีก่อน ที่มีปริญญาเอกหรือผู้จบดอกเตอร์กันเกร่อจนเกิดข้อกังขาในสังคมว่าปริญญาเอกที่ได้มานั้นเป็นการหาซื้อกันมาหรือไม่ ภาพที่เคยปรากฏขึ้นในอดีตได้ย้อนมาในปัจจุบันที่เห็นแรงกระเพื่อมของการศึกษาในระดับปริญญาเอก เป็นไปอย่างคึกคักอีกครั้ง เพราะการคว้าคำนำหน้าชื่อว่า ดอกเตอร์ นั้นไม่ยากอีกต่อไป ซึ่งจะเห็นระดับการเรียนการสอนที่เปลี่ยนเร็วเท่ากับเทคโนโลยี มีการเรียนการสอนทางไกล การจ้างอาจารย์จากต่างประเทศเข้ามาสอนในไทยหรือการย่อหลักสูตรระยะเวลาเรียนสั้นลง ทำให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งศึกษา โอกาสของการเป็นดอกเตอร์ในอนาคตอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ด้วยเทคโนโลยีที่ย่อโลกทั้งใบไว้บนคอมพิวเตอร์เล็กๆ เพียงเครื่องเดียวก็สามารถทำให้บุคคลนั้นเป็นว่าที่ดอกเตอร์ได้แล้ว ความสะดวกสบายของการเรียนที่ผ่านหลากหลายช่องทาง ดร.เทอดทูน ไทศรีวิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลกลุ่มบริษัท เมอร์ก ประเทศไทย และอุปนายกฝ่ายสื่อสารองค์กร สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นพร้อมยอมรับว่าเป็นช่องว่างให้กับวงการการศึกษาในระดับปริญญาเอก แต่หากมองเป็นข้อดีที่โอกาสดีๆ มาถึง ผู้ที่ใฝ่รู้ที่จะพัฒนาตนเองให้มีการศึกษาที่สูงขึ้นจากความหลากหลายของช่องทางเรียนที่ไม่ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองนอกเมืองนา รวมถึงการขยายระดับการศึกษาในไทยของหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนระดับปริญญาเอกอีกด้วย แต่ขณะเดียวกันจะมีโอกาสสร้างความฉาวให้กับวงการได้ ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าได้เกิดดอกเตอร์เก๊ขึ้นในวงการ แต่ตนยังมองในแง่ดีว่าเมื่อสุ่มไปจะพบดอกเตอร์เก๊หรือดอกเตอร์เทียมไม่กี่คนเท่านั้น แต่เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานหลักสูตรการสอนของมหาวิทยาลัยนั้นๆ อย่างเข้มงวด "จุดที่เป็นช่องว่างที่คาดเดากันหรือมองเห็น คือ ต้องการมีคำนำหน้าเป็นดอกเตอร์ และดอกเตอร์สมัยนี้แตกต่างจากดอกเตอร์สมัยก่อนเหลือเกิน สมัยก่อนใครเป็นดอกเตอร์ต้องเป็นผู้รู้อะไรหลายๆ ด้าน ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น มีช่องทางหลากหลายสถาบันหลายประเภทขึ้นมา ช่องว่างมีจริง แต่ใครมีหน้าที่ปิดช่องว่างเหล่านั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้มาตรฐานการเรียนรู้ของประชากรไทยมีมาตรฐานที่เป็นสากล" ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เปิดสอนในระดับปริญญาเอกนั้นจะต้องได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเช่นกันที่ไม่ผ่านการรับรองนี้ หรือใบปริญญาบัตรระดับปริญญาเอกนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงโดยเฉพาะการนำมาสมัครงานกับภาครัฐ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใบปริญญาบัตรปลอมแต่เนื่องมาจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ อาจไม่ผ่านคุณสมบัติที่ ก.พ. กำหนด เช่น เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นมาใหม่หรือมีหลักสูตรเรียนทางไกลเพียงอย่างเดียว เป็นต้น แต่หากกลุ่มคนเหล่านี้มาสมัครงานที่ภาคเอกชนจะเปิดรับและตรวจสอบน้อยกว่าการสมัครเข้าทำงานในภาคราชการ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าทำงานกับภาคเอกชนมากกว่า และยิ่งปัจจุบันการได้มาซึ่งคำว่าดอกเตอร์นำหน้าชื่อนั้นไม่ต้องเป็น Ph.D. ซึ่งต้องเป็นผู้วิจัย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้กว้างในเรื่องนั้นๆ เพื่อสร้างแนวคิดสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อไปแล้ว เพราะมีทางเลือกสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการนำความรู้ในภาคปฏิบัติไปขยายผลเจาะลึกในแต่ละเรื่อง หรือที่เรียกว่า Dr. O...f เช่น Dr. Of Management, Dr. Of Business เป็นต้น แต่ด้วยโอกาสของการคว้าปริญญาเอกมาได้หลากหลายช่องทางและหลากหลายที่มาที่ไป ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลบริษัทเอกชนต่างๆ มีความเข้มงวดในการตรวจสอบที่มาที่ไปของใบปริญญานั้นๆ เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา แม้ว่าทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้หมดก็ตาม แต่ไม่ปฏิเสธความทันสมัยของเทคโนโลยีที่อะไรๆ ก็สามารถปลอมแปลงกันขึ้นมาได้ ดังนั้น หากเป็นผู้สมัครในระดับปริญญาเอกนั้นจะมีการติดต่อสอบถามโดยตรงกับมหาวิทยาลัยที่จบมาและขอใบรับรองที่ส่งตรงจากมหาวิทยาลัยหรือประกาศนียบัตรต่างๆ ที่มีการนำมาแสดงหรืออ้างอิง แต่ภาพรวมในตลาดแรงงานไทย กลุ่มคนที่จบดอกเตอร์จะไม่ใช่กลุ่มที่เดินเข้ามาสมัครงานด้วยตนเอง จะเป็นการชักชวน ชักนำกันเข้ามา ทำให้ปัจจุบันฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะมุ่งความเข้มข้นในการตรวจสอบระดับปริญญาโท ซึ่งขณะนี้กระแสของการแห่เรียนในระดับปริญญาโทมีเพิ่มสูงขึ้นแม้การเข้ามาสมัครงานในตำแหน่งนั้นๆ ระบุจบเพียงปริญญาตรีเท่านั้นก็ตาม แต่ยอมรับว่าขณะนี้เกิดกระแสของมนุษย์เงินเดือนไทยศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ส่วนใหญ่เพราะมองว่าเมื่อเรียนจบมาจะมีการปรับวุฒิที่ส่งผลต่อเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าในองค์กรไทยหรือองค์กรข้ามชาติก็ตามยังคงยึดระดับการศึกษา เพราะเชื่อว่าการศึกษาสูงขึ้น มีวุฒิภาวะความรู้จึงได้ปรับเงินเดือนให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจพนักงาน ในขณะที่องค์กรบางแห่งไม่ได้ดูเกี่ยวกับวุฒิทางการศึกษาเลย ดร.เทอดทูน ยกตัวอย่าง กลุ่มบริษัท เมิร์ก ประเทศไทย ธุรกิจเดินเรือสินค้าซึ่งเป็นองค์กรข้ามชาติ และในฐานะที่ตนนั่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า บริษัทจะไม่ดูระดับการศึกษาในบางตำแหน่งจบ ปวช. ปวส.มาและดูที่เนื้องานก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะบริษัทต้องมาป้อนความรู้ให้ใหม่ และให้ความสำคัญกับประสบการณ์การทำงานว่ามีความสำคัญมากกว่า และส่งผลต่อการตัดสินใจถึงค่าของงานเพราะประสบการณ์การทำงานเรียนรู้มากกว่าความรู้ด้านการศึกษา เขาบอกว่าแนวคิดดังกล่าวนี้จะเห็นมากในองค์กรแถบยุโรปและตะวันออกที่มีการนำปรัชญาการศึกษา 70% 20% และ 10% ไปใช้ 70% เชื่อเรื่องของพนักงานได้รับความรู้สู่ตนเองทั้งจากการทำงาน ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานเรียนรู้จากการลงมือทำ 20% เป็นความรู้ที่มาจากการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือการมีโค้ช รวมถึงการสังเกตการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนอีก 10% นั้นเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นทางการในภาคการศึกษา ซึ่งทำให้มองเห็นความเชื่อขององค์กรเกี่ยวกับความรู้ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ เชื่อว่าไม่ว่าจะจบอะไรมาซึ่งไม่เป็นงานที่เจาะลึกในงานนั้นแต่เป็นงานทั่วไป เมื่อรับเข้าสู่องค์กรแล้วสามารถเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มเติมได้ อีกฝ่ายให้ความสำคัญไปกับวุฒิการศึกษา การเติบโตไต่เต้าตามลำดับ แต่หากถามถึงความจำเป็นในการหาบุคลากรระดับดอกเตอร์เข้ามาในองค์กรนั้น ดร.เทอดทูน ให้ความเห็นว่า ในภาคเอกชนนั้นจะดูตามประเภทของธุรกิจและเนื้องานนั้นๆ เช่น บริษัทที่ปรึกษาจะพบว่ามีความต้องการบุคลากรระดับดอกเตอร์ เพราะเป็นลักษณะงานการให้คำปรึกษาและการเรียนรู้ระดับปริญญาเอกนั้นจะสอนให้มีความรู้ที่กว้าง มีมุมมองที่ลึก ซึ่งจะสามารถให้คำปรึกษาในภาพกว้างได้ หากถามถึงค่านิยมขององค์กรไทย ดร.เทอดทูน ให้ความเห็นว่า องค์กรไทยส่วนใหญ่ยังยึดติดกับวุฒิทางการศึกษามากกว่าจบที่ไหน เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ ยังเป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบ ด้วยค่านิยมดังกล่าวในสังคมไทยเป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานส่วนใหญ่ศึกษาหาความรู้เพิ่มในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อปรับวุฒิและรับเงินเดือนเพิ่มในบางองค์กรที่มีการปรับรายได้หรือเงินเดือนตามวุฒิ ขณะที่นักศึกษาจบใหม่นิยมเรียนต่อสูงขึ้นแม้ในบางตลาดแรงงานอาจรับแค่เพียงปริญญาตรีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับในสังคมไทยนั้นค่านิยมของการตีมูลค่าของคำว่าดอกเตอร์นั้นยังสูงส่ง แต่ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานว่าใครจบอะไรมาแล้วจะเก่งหรือไม่เก่ง และมีการพูดกันมากในหมู่นักวิชาการตะวันตกที่ว่าการเรียนปริญญาเอกไม่ใช่คนที่เก่งหรือไม่เก่ง แต่ต้องเป็นคนที่อึด อดทนและใฝ่รู้ไม่ลดละ ฉะนั้น การที่คนคนหนึ่งที่มีคำว่าดอกเตอร์นำหน้าชื่อนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าบุคคลนั้นเป็นพหูสูตอีกต่อไป************************************ผู้จัดการ 360 : รายสัปดาห์ 22-28 ก.พ. 2553

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นายกแพทยสภาระบุ ปัจจุบันมีการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก อาจส่งผลให้แพทย์ล้น และแพทย์ที่จบใหม่อาจตกงานเหมือนกับหลายประเทศ


นายกแพทยสภาระบุ ปัจจุบันมีการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก อาจส่งผลให้แพทย์ล้น และแพทย์ที่จบใหม่อาจตกงานเหมือนกับหลายประเทศ... ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยสถานการณ์การผลิตแพทย์ ว่า ปัจจุบันมีการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก โดยมีแพทย์จบใหม่ปีละประมาณ 2,500 คน จากเดิมผลิตเพียงปีละ 200 คน ในขณะที่มีประชากรเกิดใหม่น้อยลงเหลือเพียงปีละ 7-8 แสนคน จากเดิมที่มีปีละประมาณ 1 ล้านคน หากเป็นเช่นนี้ในอีก 15 ปี อาจส่งผลให้แพทย์มีจำนวนล้น และแพทย์ ที่จบใหม่อาจจะตกงาน เหมือนกับหลายประเทศ เช่น ทวีปยุโรปที่แพทย์ต้องไปขับรถแท็กซี่ หรือประเทศอินเดียที่ต้องส่งแพทย์ออกไปต่างประเทศถึงปีละ 6 หมื่นคน และว่านโยบายเกี่ยวกับการผลิตแพทย์ควรที่จะมองไปข้างหน้า 15 ปี จะทำให้มองเห็นภาพว่าแพทย์ที่ผลิตในปัจจุบันขาดหรือเกิน หรือไม่ได้ขาดแคลนแต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายแพทย์ไม่ดี โดยส่วนตัวเห็นว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนแพทย์มาก แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดกลับมีจำนวนแพทย์น้อย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องของการกระจายแพทย์ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ควรพัฒนาโรงพยาบาลในรูปแบบเครือข่าย โดยให้แพทย์ประจำอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด และจัดเวรหมอประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในพื้นที่ชุมชน ควรมีเพียงคลินิกหรือศูนย์สุขภาพชุมชนขนาดไม่ใหญ่ โดยแต่ละแห่งเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาล และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ดีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เตรียมเปิดคณะแพทยศาสตร์ ขณะนี้ยังไม่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งใดเสนอเรื่องมายังแพทยสภาเพื่อขออนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ มีเพียงมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งส่งจดหมายแจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรแล้ว และการที่แพทยสภาจะรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งใด จะพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโรงพยาบาลรองรับให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ และหากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองหลักสูตร แต่จัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน แพทยสภามีสิทธิ์ที่จะยุบคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้