Q : ทำไมปัจจุบันคนกลัว มีความเครียด กับเรื่องการชุมนุมกันมาก ทุกโพลสำรวจก็ออกมาว่าคนเครียดมากมาย
A : เหตุผลหลักก็เพราะว่ามันมีสัญญาณบางอย่างที่จะใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น มีการให้สัมภาษณ์ด้วยความเคียดแค้น ข่มขู่ คุกคาม เช่น จะทำสงคราม 10 ทัพ ที่ยิ่งใหญ่กว่าสงคราม 9 ทัพในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดูเหมือนกรุงเทพฯ จะถูกปิดล้อมจากทุกทิศทุกทาง และบีบให้ใช้ความรุนแรง อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีคนตายเพื่อสร้างเงื่อนไขในการต่อรอง หรือเปิดเงื่อนไขให้อำนาจพิเศษ เช่น รัฐประหาร อีกครั้งหนึ่ง ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนประหวั่นพรั่นพรึงกันไปหมด
Q : ประชาชนธรรมดาๆ หรือที่เรียกว่าคนที่กลางๆ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดควรมีทีท่ากับวันที่ 14 มี.ค 53 ธรรมะจะแนะนำคนเหล่านี้ว่าอย่างไร...?
A : ประการที่ 1 เราไม่ควรจะ “ตื่นตูม” แต่ควรจะ “ตื่นรู้” ลุกขึ้นมาศึกษาสถานการณ์อย่างรอบด้าน 2 ติดตามวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ ช่องทาง จะได้ไม่ตกเป็นแนวร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างงมงาย แล้วกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเสียเอง 3 เราทุกคนในฐานะที่เป็นคนไทย ต้องแสดงเจตจำนงว่าเราไม่ยินดีต้อนรับความรุนแรง ไม่ว่าจะก่อโดยภาครัฐ หรือกลุ่ม นปช. ก็ตาม ถึงเวลาที่ทุกคนที่คนไทยทุกคนต้องแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ยินดีต้อนรับความรุนแรง นี่เป็นทางออกทั้ง 3 วิธี
Q : มีวิธีคิดมุมดีๆ มุมไหนที่ทำไม่ให้คนกลัววันพรุ่งนี้ ไม่ให้กระวนกระวายไหม...?
A : อาตมาคิดว่า ขอให้เชื่อมั่นไว้ว่าความรุนแรง โอกาสที่จะเกิดคงไม่มาก เพราะว่าใครใช้ความรุนแรงก่อนคนนั้นก็แพ้ ในทางลึกๆ แล้ว ภาครัฐก็ดี นปช.ก็ดีไม่มีใครอยากใช้ความรุนแรง ขอให้เชื่อมั่นอย่างนี้ไว้เป็นเบื้องต้น ถ้ามีการใช้รุนแรงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เท่ากับว่าฝ่ายนั้นเท่ากับว่าสร้างเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นทันที นี่คือข้อเท็จจริงที่ควรตระหนักรู้เอาไว้ ว่าลึกๆแล้วไม่มีใครอยากใช้ความรุนแรง ดังนั้นอย่ากลัวและทุกข์เกินจริง
Q : อย่าตื่นกลัวเกินจริงก็ถูก แต่คำถามก็คือทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ขนาดที่ว่า ต้องกระหืดกระหอบกักตุนอาหาร กระทั่งถอนเงินสดออกจากธนาคารมาเก็บเอาไว้
A : ก็เพราะว่าเรากำลังเขียนภาพความรุนแรงให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรอง เหล่านี้คือยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้นเอง ในส่วนของประชาชนไม่ต้องไปกลัวถึงขั้นนั้นหรอก ความรุนแรงใครใช้คนนั้นแพ้เลยนะ จบเลย ม้วนเสื่อเลย ถ้าประชาชนรู้เท่าทันว่าเป็นความรุนแรงที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองเท่านั้นลึกๆ แล้วไม่มีใครต้องการใช้ความรุนแรง ฉะนั้นแล้วประชาชนไม่ควรที่จะกลัวเกินจริง หรือถ้าเกิดมีการใช้ความรุนแรงขึ้นมาจริงๆ ตัวเองก็ควรจะอยู่ในที่ตั้ง ไม่จำเป็นต้องออกไปเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงนั้นโดยเป็นอันขาด ไม่ว่าจะทั้งทางตรง-ทางอ้อม แล้วก็หากติดตามข่าวสารเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าเครียด ก็ให้ลดการติดตามไปทำอย่างอื่นแทน เพราะยังไงโลกยังหมุนต่อไปตามเดิม อาตมาเองก็ใช้วิธีนี้ ตอนนี้อาตมาก็ขึ้นมาอยู่ต่างจังหวัด อาตมายังรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างยังดำเนินไปตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปสักอย่างเลย เห็นไหมว่าโลกมันไม่ได้เดือดปุดๆ ไปทุกจุดหรอก มันมีบางจุดเท่านั้นที่เราเอาตัวเองไปเกี่ยวข้อง หากเห็นว่าเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องแล้วตัวเองร้อนรุ่ม กลุ้มใจ ถอนตัวออกมา แล้วไปทำกิจกรรมอื่นๆ ของชีวิตดู อย่าหมกหมุ่นเกินไป
Q : ตามหลักพุทธศาสนาการเมืองเป็นเรื่องของทุกๆ คนไหม...?
A : การเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคนในสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่อยู่ในสังคมจะต้องกระโดดร่วมเข้าร่วมการเมืองอย่างไร้สติ เรามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ แต่ต้องเป็นการเมืองที่มีสติ การเมืองที่ไม่มีสตินั้นเป็นเรื่องของพวกมากลากไป การเมืองที่มีสตินั้น เป็นเรื่องของเหตุผลเวลานี้สังคมไทยน่าเป็นห่วงมาก เพราะเรากำลังอยู่ในสังคมที่ก้าวข้ามการใช้เหตุผล มาใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ สังคมที่ใช้อารมณ์นำทางเป็นสังคมที่ล่อแหลมต่อการเกิด “กลียุค”ดังนั้นจำเป็นที่เราคนไทยทุกภาคส่วนจะต้องหยิบยกเอา “เหตุผล” ขึ้นมาชี้ทิศนำทาง ฉะนั้นต้องระมัดระวังตรงนี้ อาตมาเองอยากจะมองว่าเวลานี้ประชาธิปไตยของไทยนั้น เป็นประชาธิปไตยที่เรียกกันว่าเป็น “อหิงสาประชาธิปไตย” เป็นที่ “วิหิงสาประชาธิปไตย” คือประชาธิปไตยที่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง เราจึงต้องเปลี่ยนใหม่มาเป็นสติมาประชาธิปไตย สติมาแปลว่ามีสติ สติมาประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยในการกำกับของสติ ทุกวันนี้เป็นประชาธิปไตยในการกำกับของความรุนแรงลองดูสิ โฟนอินเข้ามาก็พูดแต่ความรุนแรง ตัวแทนออกมาให้สัมภาษณ์ก็พูดแต่ความรุนแรง แล้วหัวหน้ากลุ่มหัวหน้าก๊วนมีประวัติเป็นนักเลงทั้งนั้นเลย นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “วิหิงสาประชาธิปไตย” คือ ประชาธิปไตยที่มีแน้วโน้มจะใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่อันตรายมาก ฉะนั้นเราต้องกลับมาใช้ “สติมาประชาธิปไตย” คือประชาธิปไตยของคนที่ใช้สตินำทาง
Q : การที่เราเห็นปรากฏการณ์พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในมากมายในยุคนี้ พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร…?
A : พระสงฆ์สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ในฐานะผู้ถ่ายทอดธรรมะให้แก่นักการเมือง ไม่ใช่ผู้ที่เข้าไปคลุกคลีตีโมงกับการเมือง ตรงนี้ต้องชัด นักการเมืองซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ให้รู้จักว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรคือประโยชน์ตน อะไรคือประโยชน์ท่าน หน้าที่ของพระสงฆ์ในทางการเมืองมีแค่นั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่พระสงฆ์ก้าวล่วงเข้าไปถึงขั้นคลุกคลีตีโมง หรือลงไปเล่นการเมืองเสียเอง ถือว่าเลยจุดที่พระธรรมะวินัยจะอนุญาตแล้ว ไม่ถูกต้อง
Q : เล่นการเมืองไปถึงขั้นคลุกคลีตีโมงที่พระอาจารย์กล่าวหมายความต้องถึงขั้นไหน...?
A : 1. เข้าไปเป็นกุนซือให้กับนักการเมือง 2. เข้าไปร่วมวางยุทธศาสตร์ให้กับนักการเมือง 3. เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียให้กับนักการเมือง ถ้าทำ 3 ขั้นนี้เมื่อไหร่ ถือว่าทำหน้าที่เลยสิ่งที่พระธรรมวินัยอนุญาต อันนี้อันตรายมาก พระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ในสถานะเดียวเท่านั้น คือผู้ถ่ายทอดหลักธรรมสำหรับนักการเมืองเท่านั้น ถ้าเลยไปถึงลงเล่นการเมืองเมื่อไหร่ ถือว่าทำผิดพระวินัยทันที ถามว่าตกนรก ตกนรกแน่นอน
Q : ตามหน้าสื่อต่างๆ มีพระบางรูปบอกว่า อาตมาชื่นชอบนักการเมืองคนนี้ๆ เหลือเกิน เป็นโชคดีของประเทศที่ได้นักการเมืองคนนี้ๆ มาดูแลประเทศ กระทั่งเทศนาเชียร์ให้คนอื่นๆ ที่มาทำบุญคล้อยตาม กลับกันกลับเทศนาตำนิด่าทอคนที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง อย่างนี้ผิดไหมพระธรรมวินัยไหม
A : ผิดแน่นอน สามารถแบ่งความผิดอย่างนี้มี 2 แบบ 1. ผิดวินัย หรือผิดตามกฏหมาย ซึ่งอาจจะไม่มาก แต่ผิดในแง่ของเจตนารมณ์ของการเป็นพระแล้วผิดรุนแรง เพราะการที่คุณเป็นพระบอกอยู่แล้วว่าเป็นการหันหลังให้กับการเมือง คุณยังเข้าไปคลุกคลีอยู่ถือว่าไม่ถูกต้อง เจตนารมณ์คือคุณกล้าออกมาจากวิถีชีวิตแบบชาวโลก แต่ถ้าคุณยังลงมาคลุกคลีตีโมงทางการเมืองกับชาวโลกอยู่ ไปมีส่วนได้ส่วนเสียส่วนปลุกเร้า หรือแสดงความชื่นชมนักการเมืองอย่างออกนอกหน้าเกินไป จนทำให้มีผลเสียหรือดีคนใดคนหนึ่งถือว่าไม่ถูกต้องหมดเลย ท่าทีอย่างนี้ถือว่าไม่ผิดวินัย แต่มันเป็น “โลกวัชชะ”“โลกวัชชะ” แปลว่าชาวโลกติเตียน ซึ่งอาจไม่ผิดวินัยร้ายแรง แต่อยู่ในวิสัยที่ชาวโลกรับไม่ได้ คือวินัยอาจบัญญัติไว้ไม่ถึง เพราะพระธรรมบัญญัติไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่พระพุทธเจ้าเปิดช่องเอาไว้ให้ แต่ถ้าชาวโลกไม่ยอมรับ ถือว่าไม่ถูกต้อง นี่เรียกว่าไม่ผิดโดยกฎหมาย แต่ผิดโดยเจตนารมณ์ ฉะนั้น แสดงความชื่นชม สนับสนุนนักการเมือง หรือช่วยเหลือ อย่างนี้ก็ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น
Q : แล้วปรากฏการณ์ของพระสงฆ์บางรูปเช่นนี้ เอาหลักศาสนาอธิบายได้อย่างไร...!
A : 1. ต้องยอมรับว่าพระสงฆ์บางรูปการศึกษาไม่ดี 2. มีอคติ เลือกข้างไปแล้ว 3. เป็นผู้ที่ได้รับส่วนได้เสียของนักการเมือง พูดอย่างตรงไปตรงมาคือ นักการเมืองจำนวนหนึ่งอาจจะจัดสรรงบประมานไปอุปถัมภ์บำรุงวัดของท่าน และนั่นเป็นเหตุให้เรียกร้องบุญคุณทางอ้อม เพราะพระสงฆ์เองก็ถือหางมวลชนไว้ไม่น้อยเหมือนกันสำหรับบางรูป ซึ่งนั่นเป็นจุดที่อันตรายมากสำหรับพระสงฆ์ พระเองก็ต้องระวังสถานภาพตัวเองไว้ว่า เกี่ยวข้องกับการเมืองได้เรื่องเดียวเท่านั้น คือในฐานะพระผู้เตือนสตินักการเมือง มากกว่านั้นถือว่าไม่เหมาะ
Q : เป็นไปได้ไหมว่าส่วนหนึ่งที่เกิดปรากฏการณ์พระจีวรแดง พระจีวรเหลืองในสมัยนี้พระสงฆ์เสพข่าวสาร ทั้งทางทีวี วิทยุ และท่องอินเทอร์เน็ตมากเกินไป จริงแล้วตามหลักพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ สามารถดูทีวี ฟัง วิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์เล่นอินเทอร์เน็ตได้ไหม...?
A : พระสงฆ์สามารถติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองได้ แต่เราต้องช่วยให้ท่านติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองอย่ารอบคอบและรัดกุม ต้องไม่ลืมว่าพระสงฆ์ก็คือลูกชาวบ้าน ดังนั้นถ้าท่านถูกกรอกข้อมูลอย่างผิดเรื่อยๆ ท่านก็จะมีวิธีคิด วิธีเชื่อ ที่ผิดๆ ไม่ต่างจากชาวบ้านเหมือนกัน และนั่นก็เป็นเหตุให้พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งนั้นรับข้อมูลที่ผิด การที่พระสงฆ์รับข้อมูลที่ผิด ก็ทำให้ปฏิกิริยาปฏิบัติก็ผิดทางการเมืองด้วย ย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นพระสงฆ์ ผู้รู้หลักพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ต่อให้มีข้อมูลข่าวสารมามากแค่ไหน ท่านก็จะครองวาจา ครองกายให้อยู่ได้ ไม่มีปัญหา คือ ต้องยอมรับว่าพระสงฆ์ไม่น้อยที่เป็นลูกชาวบ้าน ที่ยังไม่เข้าใจ
1. ธรรมะ ที่ไม่รู้การวางสถานะตัวเองต่อการเมือง
2. ไม่เข้าใจการเมืองไทย
3. ไม่เข้าใจสังคมไทย
4. รู้ไม่เท่าทันพวกนักการเมือง บางครั้งนักการเมืองก็เข้ามาหลอกพระ ภายใต้การอุปถัมภ์ ยิ่งถวายอุปถัมภ์มากๆ ก็สะกดพระได้มากๆ เพราะฉะนั้นต้องระวังว่าเขาเคารพ เราหรือกดเรา ถ้ารู้ไม่เท่าทัน พระก็จะถูกหลอกเป็นเครื่องมือได้เหมือนกัน จุดยืนของพระต่อการเมืองไทยคือ พระนั้นอยู่เหนือการเมือง ถ้าทำมากกว่านี้จะผิดเจตนารมณ์ของพระ
Q : หลายคนสงสัยว่า เวลาที่คนส่วนน้อยทำให้คนส่วนมากเดือดร้อน เราจะมีวิธีคิดยังไงให้คนที่ส่วนมาก ไม่โกรธ ไม่เคียดแค้นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว...?
A : อาตมาคิดว่า คนเมืองที่อยู่ในพื้นที่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เราไม่มีสิทที่จะไปโกรธคนที่เขาไม่รู้ เรามีหน้าที่ทำความเข้าใจว่า ทำไมคนไทยของเราถึงถูกปลุกปั่น ด้วยความเข้าใจเท่านั้นที่เราจะทำการเมืองได้อย่างสันติ คนจำนวนหนึ่งถูกปลูกปลูกปั่นให้โกรธเกรี้ยวกราด ใช้อารมณ์ของเขา มีแนวโน้มที่จะทำลายคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้นเราอย่าไปใช้ “อารมณ์” กับเขา เราต้องใช้ “ปัญญา” แล้วยึดหลักว่าด้วยปัญญาและความเข้าใจจะนำพาการเมืองไทยก้าวข้ามความรุนแรงไปได้ ถ้าเขาใช้อารมณ์ และเราก็ใช้อารมณ์ แน่นอนที่สุดก็จะกลายเป็นความรุนแรง
Q : เมื่อเจอความรุนแรงมา แต่กลับตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง ดังนั้นเราก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่เริ่มก่อความรุนแรง
A : พระพุทธองค์กล่าวว่าถ้าคนที่ทำให้เราโกรธและโกรธตอบ ทั้ง 2 คนนี้เลวพอกัน ดังนั้นถ้ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งถูกปลุกปั่น เพื่อให้อารมณ์ในเมืองหลวง แล้วคนในเมืองหลวงก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรงพอกัน ต่างฝ่ายก็จะทำให้ใครไม่ได้ดีไปกว่ากัน ถ้าฝ่ายหนึ่งใช้อารมณ์ อีกฝ่ายก็ควรที่จะต้องใช้เหตุผล ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งคุกคาม อีกฝ่ายก็ควรจะใช้สันติวิธี ฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธ อีกฝ่ายต้องวางอาวุธ ฝ่ายหนึ่งเป็นไฟ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเป็นน้ำ อีกฝ่ายใช้แบบกองโจร อีกฝ่ายต้องใช้มาตรการแบบอารยะ พระพุทธองค์บอกว่า ต่อสู้ความชั่วด้วยความดี ต่อสู้ความโกรธด้วยความไม่โกรธ ต่อสู้ความตระหนี่ด้วยการให้ ต่อสู้ความเท็จด้วยความจริง นี่คือวิธีแบบพระพุทธศาสนา คือ จงเอาชนะความชั่วด้วยความดี
Q : กล่าวได้เต็มปากไหมว่าเหตุการณ์วันที่ 14 มี.ค.นี้ ถือมารทดสอบจิตใจคนไทยชั้นดี
A : ให้มองอย่างหนึ่งว่านี่คือวิกฤติและนี่คือการพิสูจน์ธรรมะของคนไทยที่ผ่านเข้ามา ที่จะพิสูจน์ว่า เรามีธรรมะกันจริงหรือเปล่า ถ้ามองแบบนี้แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดีมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่จะพิสูจน์บารมีธรรมของคนไทยทั้งชาติ
Q : ศาสนาอธิบายได้ไหมว่า อีกสักกี่ปีที่จะประเทศไทยจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม
A : อาตมาคิดว่าภายใน 10 ปีนี้ความขัดแย้งจะสงบ แล้วหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยที่เป็นอารยะได้ เท่าที่ดูเห็นว่าฐานอำนาจต่างๆ มันกำลังจัดผลประโยชน์ให้ลงตัว โดยเมืองไทยเองก็กำลังจะนำหลักนิติรัฐเข้ามานำประเทศชาติบ้านเมือง ทีนี้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เคยอยู่ดีมีสุขเพราะกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ พอวันหนึ่งกฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมามันก็ต้องดิ้นหนีให้พ้น ทำให้คนมองว่าในเมืองไทยกฎหมายไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ พอมันมีผลขึ้นมาก็รับไม่ได้อันนี้เรื่องที่
1 คือ ใช้หลักนิติธรรมให้มานำนิติรัฐ
2. เราพยายามที่จะเกลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มที่จะรับได้
3. ความพยายามที่จะลบช่องว่างระหว่างคนเมืองกับคนชนบท
4. มีความพยายามแปรรูปนโยบายของรัฐที่อยู่บนกระดาษให้เป็นความเป็นจริง
5. ไทยเองพยายามปรับตัวให้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์อย่างไรก็ดี ถ้าเรื่องนี้สามารถบริหารจัดการได้ดีใน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะดีเลย นี่เป็นแนวโน้มของการเมืองไทย นี่เป็นช่วงวิกฤติที่ทุกกลุ่มมาเจอกัน แต่ตอนนี้มันกำลังจะจัดระบบของมันอยู่อีก 10 ปีเห็นผล
Q : ถ้ามีคนถามพระอาจารย์ว่าวันนี้ยังก้ำๆ กึ่งๆ ชั่งใจว่าจะออกมาชุมนุมกันดีไหม ในทางพุทธศาสนาจะมีวิธีคิดแบบก้ำๆ กึ่งๆ อย่างไร
A : เราควรจะมุ่งไปที่หลักการของประชาธิปไตย ไม่ควรมุ่งไปที่บุคคล ถ้าเรามุ่งไปที่บุคคล ถ้าได้บุคคล หลักการเสีย ก็เสียทั้งหมด แต่ถ้าเรายอมเสียบุคคล แต่รักษาหลักการไว้ได้ แค่เสียคนแค่คนเดียว แต่หลักการยังอยู่กับคนทั้งหมด ฉะนั้นให้ทำเพื่อหลักการ ไม่ใช่ทำเพื่อบุคคล เพราะถ้าคนนั้นวันหนึ่งก็จะแตกดับไป แต่คนนั้นหลักการนั้นจะอยู่เป็นหลัก เพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนอื่นๆ ในประเทศนี้ทั้งประเทศอีก เพราะฉะนั้นทำอะไรก็มุ่งไปที่หลักการ อย่ามุ่งไปที่คน คนจะประสบความสำเร็จ แต่ประเทศชาติอาจจะล้มเหลว แต่จงมุ่งไปที่หลักการจะมีคนเจ็บไม่กี่คน แต่ประเทศชาติจะได้ไปต่อ ฉะนั้นให้คำนึงถึงหลักการ
Q : ทุกวันนี้คนตักบาตร ทำบุญให้กับพระสงฆ์น้อยลงบ้างไหม...?
A : คิดว่ายิ่งวิกฤติคนก็ยิ่งใส่บาตร ขอให้คุณพระคุณเจ้าคุ้มครอง ขออย่างเดียวเท่านั้นแหละ อย่าให้พระสงฆ์ลงไปร่วมเดินขบวนกับเขา เพราะเมื่อไหร่เป็นแบบนั้น เมื่อนั้นดุลยภาพของสังคมจะเสียทันที เพราะสถาบันสงฆ์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นการถ่วงดุลสำหรับสังคม และคนไทยโชคดีมากที่มีสถาบันสงฆ์ ยิ่งเวลานี้กำลังขาดสติก็จะมีพระออกมาเตือนนี่เป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก เราจะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากสถาบันสงฆ์ในฐานะเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เตือนสติของสังคม อย่าหลอกใช้สถาบันสงฆ์ลงไปคลุกคลีตีโมงกับชาวบ้าน เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อสถาบันสงฆ์เอง อาตมามีเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง ตอนที่พระนเรศวรไปทำยุทธหัตถีกับพระราชา ในครั้งนั้นชนะกลับมา แต่ว่าแม่ทัพนายกองตามไปไม่ทัน จึงมีรับสั่งว่าจะตัดหัวแม่ทัพนายกองทิ้ง วันนั้น “สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว” ขอบิณฑบาตชีวิตแม่ทัพนายกองทั้งหมด สมเด็จพระนเรศวรบอกว่ามาขอบิณฑบาตชีวิตแม่ทัพนายกองก็จะให้ แต่จะไม่ให้เฉยๆ แต่จะให้ไปตีเมืองอื่นเอามาเป็นการไถ่โทษ สมเด็จฯ ท่านตอบไปว่าเรื่องการทำศึกสงครามเป็นเรื่องของมหาบพิตร อาตมาไม่ขอคิดเห็น นี่เป็นท่าทีของพระสงฆ์ต่อการเมือง นี่คือบทบาทของพระสงฆ์ที่เคยเกิดขึ้นสมัยก่อน ถ้าฟังเรื่องนี้ให้ดี จะทราบว่าท่าทีของพระสงฆ์ต่อการเมืองนั้นคืออะไร
Q : ย้ำอีกทีในฐานะประชาชนเราจะผ่านวันที่ 14 มี.ค.นี้ไปได้อย่างไร
A : มองโลกในแง่ดี ว่าคนไทยถึงยังไงก็ไม่อยากฆ่ากันหรอก ที่ชุมนุมกันแค่การวางยุทธศาสตร์นำไปสู่การต่อรองเท่านั้นเอง ให้สบายใจได้ อาตมาเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านวันพรุ่งนี้ไปด้วยความสวัสดี วันที่ 14 มี.ค.นั้น จะเป็นวันธรรมดาที่ผ่านไปด้วยความสงบ แล้วเมืองไทยจะอยู่ด้วยกันแล้ว เมืองไทยก็จะร่มเย็นและเป็นสุขต่อไปแล้วเราทุกๆ คนจะก้าวข้ามผ่านวันที่ 14 มี.ค.53 นี้ไปด้วยกัน เจริญพร...!!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น