วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
"นกพิราบ" ร้าย ยังไม่เท่ากับ "คน"
กรณีการเสื่อม-โทรม และแฝงไว้ด้วยหลาย ๆ ปัญหาของ “สนามหลวง” ซึ่งทาง “เดลินิวส์” ได้ตีแผ่-นำเสนออย่างเกาะติด และทางหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กทม. (กรุงเทพมหานคร) ก็ได้เร่งปรับปรุง-พัฒนาตามแผนงานที่มีอยู่นั้น ล่าสุดความเคลื่อนไหวดูจะเทน้ำหนักไปที่ “นกพิราบ” การจะนำนกพิราบออกจากพื้นที่ “นกพิราบสนามหลวง” ส่งผลเสียต่อสถานที่สำคัญ ๆ แต่เมื่อจะย้ายไปที่อื่น...ที่ไหน ๆ ก็คัดค้าน-ก็ต่อต้าน !! ทั้งนี้ “นกพิราบ” ที่หากินอยู่บริเวณสนามหลวงนั้น ด้านหนึ่งเกี่ยวพันเป็นผลดีต่อคนที่ทำอาชีพขายอาหารนก ซึ่งเมื่อจะมีการย้ายนกออกไปก็คงต้องดูแลคนที่มีอาชีพอยู่เดิมด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าจะไม่ย้ายนกออกจากพื้นที่ ผลเสียที่มีมานานต่ออาคารสถานที่สำคัญ ๆ รายรอบสนามหลวง โดยเฉพาะวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ก็จะไม่ยุติลง และอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะให้เป็นเช่นนี้มิได้ กล่าวสำหรับนกพิราบนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.vet.ku. ac.th ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า... พิราบเป็นนกพื้นบ้านที่มีประวัติศาสตร์การเพาะเลี้ยงด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ มานานกว่า 3,000 ปี สืบเชื้อสายมาจากนกสายพันธุ์ร็อกโดฟ หรือร็อกพีเจี้ยน ซึ่งอาศัยอยู่ตามหน้าผาหิน โดยได้แตกแขนงสายพันธุ์กับรูปลักษณ์ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งสำหรับในไทยนกพื้นบ้านเหล่านี้ได้แก่นกพิราบที่อาศัยตามท้องไร่ท้องนา ต่อมาได้ปรับตัวเข้ามาอยู่ในเมือง ตามสถานที่ต่าง ๆ นกพิราบในไทยส่วนหนึ่งเป็นนกเลี้ยง-พันธุ์ดี-มีราคา แต่ที่เป็นปัญหาคือนกพิราบส่วนใหญ่ที่อยู่กันอิสระ !! นอกจากการทำรังตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ จนทำให้สถานที่นั้น ๆ เสียหายแล้ว ปัญหาสำคัญที่เกิดจากนกพิราบที่ไม่ใช่นกเลี้ยง คือ “ความสกปรกจากมูลนก” และโดยเฉพาะ “โรคภัยไข้เจ็บ” ที่ อาจติดต่อจากนกสู่คน ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ทำให้ผู้คนในย่านสถานต่าง ๆ ไม่อยากให้มีนกพิราบจำนวนมากมาอยู่ใกล้ ๆ ที่ผ่านมาในช่วงที่มีโรค “ไข้หวัดนก” ระบาดในไทย นอกจากสัตว์ปีกอื่น ๆ แล้ว กับ “นกพิราบ” ก็ถูกจับตา ถูกรังเกียจเช่นกัน ที่สำคัญยังมีการตรวจพบนกพิราบในไทยที่ตายโดยที่มีเชื้อไข้หวัดนกด้วย ส่วนกับโรคอื่นที่มีผู้เชี่ยวชาญเตือนไว้นานแล้วว่านกพิราบสามารถเป็นพาหะได้ ที่ทำให้เสียชีวิตได้คือ “ไข้สมองอักเสบ” การสัมผัสนกพิราบหรือมูลนกพิราบอาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยในมูลนกพิราบมีเชื้อคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์มานส์ (Cryptococcus Neoformans) ที่ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.nokkhao.com ก็ระบุว่า... ในมูลนกชนิดต่าง ๆ จะมี ครีอาตินิน (creatinine) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเชื้อราจะใช้สารเหล่านี้เป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนในการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ โดยเชื้อตัวหนึ่งที่ถือว่าอันตรายก็คือเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์มานส์ ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบมากในมูลนกตระกูล “นกพิราบ” เชื้อราชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในแหล่งที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส เป็นสถานที่ชื้น แดดส่องไม่ถึง ซึ่ง รังนกพิราบตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ ก็อยู่ในข่ายน่ากลัว คนสามารถรับเชื้อนี้ได้โดยการหายใจเอาสปอร์หรือตัวเชื้อราเข้าไปในปอด โดยทั่วไปเชื้อราและสปอร์จะมีน้ำหนักเบา และถูกพัดพาให้กระจายในอากาศได้โดยง่าย ภัยจากเชื้อนี้จะเกิดที่ปอดก่อนเป็นอันดับแรก และลามไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านทางกระแสเลือด ที่ถูกฟอกไหลผ่านปอด ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย การเกิดโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และเรื้อรัง คนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะมีอาการปวดศีรษะเป็นพัก ๆ และอาการปวดจะเพิ่มขึ้น มีอาการหน้ามืด วิงเวียน ปวดขมับ เบ้าตา บางครั้งอาจถึงอาเจียน ข้อมูลในเว็บไซต์ยังระบุไว้อีกว่า... คนที่เป็นโรคนี้ที่ปอดจะมีอาการ ไอ มีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ น้ำหนักลด อาจมีอาการของ หลอดลมอักเสบ ร่วมด้วย แต่ในบางคนอาจจะไม่มีอาการอยู่เลย เชื้ออาจจะฟักตัวในร่างกายเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อร่างกายอ่อนแอจึงจะแสดงอาการออกมา ส่วนในคนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อนี้จะเจริญเติบโตได้ดีเพราะภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ รักษาได้ยากกว่า การรักษาจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะระยะเวลาหนึ่ง และรักษาตามอาการต่าง ๆ นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “โรคภัยจากนกพิราบ” ซึ่งก็ไม่น่าแปลกที่ “นกพิราบสนามหลวง” ถูกรังเกียจ อย่างไรก็ตาม กับ “ปัญหาสนามหลวง” ที่ “เดลินิวส์” ตีแผ่-นำเสนอเกาะติดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างรวด เร็ว และต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย โดยคำนึงถึงความ เดือดร้อนที่อาจเกิดกับคนบางกลุ่มที่ประกอบสัมมาชีพสุจริตในพื้นที่ นั้น ไม่ควรมาสะดุดหรือวุ่น ๆ อยู่แค่เรื่อง “นกพิราบ” “เพราะคน” สาเหตุนี้จะต้องเร่งแก้-เร่งดูแล...ใช่แค่นก “สนามหลวง” ที่ “เสื่อมโทรม” มาก...ก็เพราะคน !!!.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น