วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553
โพสดัชนีความสุขของคนไทย เพิ่มขึ้นในปี 53
ดัชนีความสุขอยู่ที่ระดับ 8.96 ปัจจัยหลักที่ทำมีความสุข คือ การรวมใจแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เชื่อสังคมจะเดินได้หาก การเมือง และ เศรษฐกิจดี...
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2553 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัย "เอแบคเรียลไทม์โพลล์" เรื่อง ประมวลผลวิจัยแนวโน้มความสุขของประชาชน และการพยากรณ์ทางสถิติความสุขมวลรวมของประชาชนในปีใหม่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนระดับครัวเรือนใน 17 จังหวัดของประเทศ พบว่า ในช่วงปลายปี 2552 คนไทยมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากที่สุดคือ มีค่าความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 8.96 เมื่อค่าความสุขเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ สุขภาพใจอยู่ที่ 7.96 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.72
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองสูงถึง 5.58 หลังจากที่เคยค้นพบความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองเคยตกต่ำเลวร้าย เหลือประมาณ 2.00 ในการวิจัยช่วงวิกฤติความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาค่าความสุขมวลรวมของประชาชน ช่วงปลายปี 2552 พบว่า อยู่ที่ 7.26 ในทางสถิติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปี ใหม่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงความสุขต้นเดือน ธ.ค.พบว่า ค่าความสุขของประชาชนลดลงจาก 9.86 มาอยู่ที่ 7.26 ดังกล่าว
นายนพดล กล่าวต่อถึงผลการสำรววจที่น่าสนใจว่า ผลการพยากรณ์ทางสถิติค่าดัชนีความสุขมวลรวม (GDH) ตลอดช่วงไตรมาสต่างๆ ในปีใหม่ 2553 พบว่า ถ้าไม่มีปัจจัยลบร้ายแรง หรือ ไม่มีปัจจัยบวกเป็นพิเศษแทรกซ้อนใดๆ คือ หากสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ ค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 6.87 ในไตรมาสแรก ส่วนในไตรมาสที่สอง ค่าความสุขของคนไทยจะอยู่ที่ 6.97 และอยู่ที่ 6.62 ในไตรมาสที่สาม ส่วนช่วงปลายปีหน้าค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 7.86 จากค่าความสุขเต็มที่ 10 คะแนน
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลวิจัยที่ค้นพบบอกถึงความชัดเจนว่า สังคมไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างปกติสุข หากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดำเนินต่อไป ไม่แตกต่างไปจากช่วงเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ มุ่งทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ห้ำหั่นรุนแรงเข้าหากัน แต่ช่วยกันตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนสามารถทำให้สาธารณชนตื่นตัวเข้มแข็งตัดสินใจในวันเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใคร ผลที่คาดว่าจะตามมา คือ ทุกฝ่ายสามารถช่วยกันหล่อเลี้ยงความสุขของตนเอง และผู้อื่นในสังคมไทยโดยส่วนรวมให้อยู่ในสภาวะที่ดีเพียงพอได้
นายนพดล กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ด้วยสถิติวิจัยก่อนหน้านี้และครั้งล่าสุด พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนคือ การที่คนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การนำหลักชีวิตแห่งความพอเพียงมาประยุกต์ใช้ การมีสุขภาพใจ นอนหลับพักผ่อนได้สนิท พักผ่อนได้เต็มที่ ได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ความเป็นธรรมในสังคม ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว บรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชุมชน ความพอใจในหน้าที่การงาน สภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน และความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
ที่มา นสพ.ไทยรัฐ ระบบออนไลน์ 5 มกราคม 2553
ดัชนีความสุขโลก (HPI: Happy Planet Index) ไม่ได้ต้องการจะบอกว่า ประชากรสองแสนกว่าคนของวานูอาตู มีความสุขที่สุดในโลก ประเทศนี้น่าอยู่ที่สุดในโลก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลก และสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่อันดับที่ 150 จาก 178 ประเทศ เป็นประเทศที่คนมีความสุขน้อยที่สุด ไม่น่าอยู่ที่สุด และสิ่งแวดล้อมแย่ที่สุด
หรือว่าเวียดนาม (อันดับ 12 ของโลก อันดับ 1 ในเอเชีย) จะน่าอยู่กว่าไทย คนมีความสุขกว่าไทย (อันดับ 32 ของโลก อันดับ 7 ของเอเชีย) สิงคโปร์ (131 ของโลก อันดับสุดท้ายของอาเซียน อันดับท้ายๆ ของเอเชีย)
HPI ต้องการจะบอกว่า วันนี้ไม่มีประเทศไหนในโลกไปถึงจุดหมายของ "สุขภาวะ" "ความสมดุลย์" และ "ความยั่งยืน" ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ตั้งคะแนนไว้ที่ 83.5 อันดับหนึ่งวานูอาตูได้เพียง 68.2 เท่านั้น
HPI เป็นแผนที่ความสุข ถ้าหากประเทศต่างๆ เดินตามแผนที่นี้ ก็จะพบความสุข ซึ่งก็เป็นเป้าหมายชีวิตของผู้คนทุกประเทศในโลก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้กำหนดตัวชี้วัด "ผิดๆ " มานาน คิดว่าการมีรายได้มาก การบริโภคมาก ทำให้คนมีความสุข ซึ่งไม่จริง
ประเทศที่ GDP โตๆ ทั้งหลายไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นตามรายได้เลย อย่าไปมองไกลที่ไหนระหว่างปี 2530-2540 GDP ของไทยเติบโตทุกปีรวมแล้วเกินร้อยเปอร์เซนต์ แต่คนไทยก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้น ซ้ำยังทุกข์หนักอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อฝันสลายฟองสบู่แตกในปี 2540
คนจะมีความสุขควรจะมี 3 อย่างที่ประสานกันไป คือ
1) ความพอใจในชีวิต ซึ่งวิชาการยืนยันว่าวัดได้ 2) อายุยืน การมีอายุยืนก็บ่งบอกถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย 3) การใช้ทรัพยากร หรือผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้สูตรการคำนวณคือ HPI เท่ากับ 1X2 หาญด้วย 3
ความจริง ทั้งสามเรื่องก็ไม่ใช่อะไรใหม่เสียทีเดียว ใช้กันมาหลายปีแล้วโดยสหประชาชาติและหลายประเทศ ซึ่งปรับตัวชี้วัดการพัฒนา (ยั่งยืน) จากการเน้นเศรษฐกิจไปสู่การวัดสุขภาวะ (well-being) ของประชากร (HDI: Human Development Index)
แต่ที่เป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ คือ กระบวนทัศน์หรือทัศนะแม่บท (paradigm) อันเป็นฐานและวิธีในการวัด "ความสุขของโลก" (HPI) ซึ่งแตกต่างไปจากของยูเอ็นและอีกหลายประเทศ ไม่เช่นนั้น สหรัฐอเมริกาไม่น่าจะหล่นไปอยู่อันดับที่ 150 อังกฤษ 108 สวิเดน 119 ฟินแลนด์ 123 ฝรั่งเศส 129 รัสเซีย 172 ยูเครน 174 ทั้งๆ ที่รัสเซียมีรายได้ต่อหัวประชากรถึง 9,230 เหรียญสหรัฐ
แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ เรื่องทั้งหมดนี้มาจาก คนเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ เอ็นจีโอเล็กๆ สององค์กร คือมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation) และ เพื่อนโลก (Friends of the Earth) ซึ่งเป็นสหพันธ์องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน 70 ประเทศ
ในองค์กรเหล่านี้มีคนที่เป็นมืออาชีพต่างๆ มาร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน และไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ งบประมาณทำงานก็มาจากการบริจาค เป็นอาสาสมัครนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ทางเลือก ซึ่งรวมตัวกันตั้งแต่ปี 1986 เพื่อล้อยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม G8
วันนี้พวกเขามีตัวเลขมาบอกชาวโลกว่า ทำไมเขาถึงได้จัดสหรัฐอเมริกาไว้ที่อันดับ 150 ทั้งๆ ที่รายได้ต่อหัวประชากรถึงปีละ 37,562 เหรียญหรือ 1.420,000 บาท มีความพอใจในชีวิตอยู่ระดับสูงมาก คือ 7.4 เท่ากับวานูอาตู มากกว่าไทย (6.5) และอายุเฉลี่ยของคนอเมริกันก็ 77.4 สูงกว่าวานูอาตู (68.6)
ความแตกต่างอยู่ที่การใช้ทรัพยากรของคนอเมริกันซึ่งอยู่ที่ 9.5 เกือบสูงสุดในโลก หมายความว่า คนอเมริกันใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด หรือมากกว่าที่ควรจะใช้ถึง 9.5 เท่า ไทยใช้ 1.6 สิงคโปร์ใช้ 6.2
ประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว แต่ผลาญทรัพยากรทั้งหลายจึงหล่นไปอยู่ท้ายๆ พอๆ กับประเทศยากจนในแอฟริกา ซึ่งอายุเฉลี่ยก็สั้น รายได้ประชาชาติก็น้อย (ต่ำว่าพันเหรียญต่อคนต่อปี) อย่างสวาซีแลนด์ (177) ซิมบับเว (178) สองประเทศที่กำลังล่มสลายด้วยโรคเอดส์ อายุเฉลี่ยประชากรเพียง 32.5, 36.9 ความพึงพอใจในชีวิตอยู่ที่ 4.2, 3.3 เท่านั้น
จึงไม่แปลกที่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับกลางๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะทั้งหลายจะรั้งอันดับดีๆ จนคนทั่วไปที่คุ้นกับกระบวนทัศน์กระแสหลักจะประหลาดใจและทำใจได้ยากที่เห็นประเทศอย่างโคลัมเบียติดอันดับสองของ HPI เพราะภาพที่สหรัฐอเมริกาป้ายสีให้ตลอดมาคือประเทศที่เต็มไปด้วยยาเสพติด และไม่เป็นประชาธิปไตย
คนไทยเองก็ทำใจไม่ได้ที่เห็นเวียดนามอยู่อันดับดีกว่าไทย กลายเป็นที่หนึ่งของเอเชีย และไม่ค่อยเห็นด้วยที่ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียได้อันดับดีกว่า (15,17,23 ตามลำดับ) เพราะคิดว่าตนเองเศรษฐกิจดีกว่า "พัฒนา" มากกว่า
HPI อยากบอกว่า 1) คนจะมีความสุข สังคมจะอยู่เย็นเป็นสุขไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรโลกมากมายอย่างที่ใช้กันเลย 2) การพัฒนาที่สมดุลย์จะสร้างความสุขวันนี้ และมีเหลือให้ลูกหลานในวันหน้า นี่คือการพัฒนายั่งยืน
HPI ได้เสนอแนวทางไปสู่ "ความอยู่เย็นเป็นสุข" โดยมีชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดคือ
1) กำจัดความยากจนและความหิวโหยให้หมดไป เพราะวันนี้ประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้แบ่งปันทรัพยากรให้ประเทศยากจนอย่างเป็นธรรม คนจนที่ไม่มีปัจจัยสี่เพียงพอย่อมไม่สามารถมีชีวิตที่ดีมีความสุขได้ ทำอย่างไรให้มีรายได้ มีที่ดิน มีอาหาร และปัจจัยจำเป็นอื่นๆ
2) สนับสนุนชีวิตที่มีความหมาย ซึ่งอยู่นอกจากงาน ซึ่งอาจไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำด้วยใจรัก ทำด้วยความพึ่งพอใจ เช่น การร่วมทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม กิจกรรมเพื่อชุมชน กิจกรรมที่ทำให้ชีวิตรื่นรมย์ มีความหมาย มีความสุข ไม่ใช่มุ่งหาแต่เงินอย่างเดียว
3) พัฒนานโยบายเศรษฐกิจในขอบเขตของทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ใช้เกินขีดจำกัด ใช้ของตัวเองไม่พอไปใช้ของคนอื่นอีก การใช้อย่างพอเพียง แปลว่าใช้แล้วให้เหลือให้ลูกให้หลานได้ใช้ด้วย ความพอเหมาะพอควรวันนี้ไม่มีในโลก ทุกประเทศใช้เกินขีดทั้งนั้น เช่น สิงคโปร์ใช้ทรัพยากร 6.2 แปลว่า ถ้าทุกประเทศใช้อย่างนั้นเราจะต้องการโลกถึง 6 ใบกว่าๆ จึงจะตอบสนองความต้องการได้
ดัชนีความสุขโลกกลายเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็จะมีผลกระทบต่อสังคมโลกตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพราะได้กระตุกความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก ไปโดนใจใครๆ ที่ตั้งคำถามเรื่องการพัฒนามานานแล้ว แต่ไม่มีใครหาคำตอบดีๆ ที่มีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ให้
ทำให้คนไทยจำนวนมากมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ใช่ปรัชญาลอยๆ แต่เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่ HPI พูดถึงเลย
เศรษฐกิจพอเพียงบอกไว้ 3 อย่างที่สำคัญ คือ
1) ความพอเหมาะพอควร ซึ่งก็เป็นหัวใจของ HPI ที่เสนอให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ ไม่ใช้เกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะรับได้ เป็นเรื่องของ "ขนาด" (scale) ซึ่งรวมไปถึงขนาดของกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงระดับชาติ ว่า "พอดี" อยู่ตรงไหน
สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงมือศึกษา HPI อย่างจริงจัง เพราะนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มีหลักคิดหลักการที่ไม่ได้ต่างไปจากอี.เอฟ. ชูมาเคอร์ เลย จะว่ายึดเอานักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เป็นปรมาจารย์ก็ไม่ผิด เพราะเขาคือคนที่พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เอารายได้หรือตัวเลขเป็นหลัก แต่เอา "คน" เป็นศูนย์กลาง เอา "ทรัพยากร" มาใช้อย่างสร้างสรรค์
2) ความมีเหตุมีผล เป็นแนวทางการจัดการชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจสังคมอย่างมีหลักวิชา ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใช้ความรู้ ใช้ปัญญา เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้คน การมีเหตุมีผลมาจากการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้คนพัฒนาศักยภาพของตนเอง ของท้องถิ่น และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราได้ใช้ด้วย "ภูมิปัญญา" จึงมีเหลือให้เรา ลูกหลานท่านวันนี้
3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึงการมีหลักประกันว่า สิ่งที่ทำจะมั่นคงยั่งยืน ไม่ใช่ทำแล้วล้มลุกคลุกคลาน หมายถึงต้องสร้างระบบ ไม่ใช่ทำโครงการ ใช้เงินกับอำนาจจะได้โครงการ ใช้ความรู้ใช้ปัญญาจะได้ระบบ โครงการมักไม่ยั่งยืน เพราะเงินหมดก็เลิก ของบประมาณใหม่ คนย้ายก็เลิก เพราะขึ้นกับคน แต่ระบบเป็นพลังที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ถ้าเป็นระบบที่ดี
ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเองเป็นระบบที่มี "ขนาด" ที่พอเหมาะพอดีสำหรับศักยภาพของท้องถิ่นที่จะบริหารจัดการ อยู่ที่ "ธรรมาภิบาล" ว่ามีพอหรือไม่ อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
ประเทศไทยได้รับพระราชทาน "เศรษฐกิจพอเพียง" มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน เรามีของดีที่ไม่ได้ด้อยกว่า หรือแตกต่างไปจาก HPI เพียงแต่เราใช้ไม่เป็น เราไม่ได้ผนึกพลังคนมีความรู้ความสามารถมาช่วยกันคิดว่า ระบบที่จะเกิดด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรจเป็นเช่นไร "หนี่งในสี่" แปลว่าอะไร "พึ่งตนเอง" แปลว่าอะไร
เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานคืออะไร ขั้นก้าวหน้าคืออะไร เศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมต่อกันได้อย่างไร พอเพียงในธุรกิจ ในภาคอุตสาหกรรมและบริการคืออะไร โครงสร้างพื้นฐานขนาดไหนจึงจะ "พอเพียง"
ซึ่งที่สุดก็แปลว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นเพียง "วาทกรรม" ที่พูดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองหรือหน่วยงาน
HPI ทำให้เราเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำให้คนไทยมีความสุขได้ มีความพอใจในชีวิต มีอายุยืนยาว รวมทั้งมีรายได้เพียงพอ และมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคง
ถ้าเราไม่รีบดำเนินการ ไม่นานเมืองไทยอาจจะไหลลงไปเลยอันดับที่ 100 ของ HPI เพราะขณะนี้คนไทยก็เครียด บ้า และฆ่าตัวตายมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรก็ลดน้อยลงไป หนี้สินชาวบ้านนับวันนับจะเพิ่มมากขึ้นแบบไม่มีทางออก
ถึงเวลาตั้งสติกันได้แล้ว ของดีมีอยู่ ความคิดดีมีอยู่อย่างพอเพียงในบ้านเรานี่เอง
(ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.neweconomics.org และ http://www.happyplanetindex.org)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น